ปักกิ่ง, 11 ก.ค. (ซินหัว) -- ทีมนักธรณีวิทยาจีนสร้างดินดาวอังคารจำลองที่เลียนแบบดินจากบริเวณยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ได้อย่างใกล้เคียงมาก นับเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญต่อภารกิจสำรวจดาวอังคารในอนาคตของจีน ซึ่งรวมถึงภารกิจนำตัวอย่างจากดาวอังคารกลับโลกที่มีแผนจะดำเนินการในปี 2028
ดินจำลองนี้มีรหัสว่ายูพีอาร์เอส-1 (UPRS-1) จำลองคุณสมบัติด้านกายภาพ เคมี สเปกตรัม และคุณสมบัติเชิงกลของดินบนดาวอังคารโดยอิงตามข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยจู้หรง (Zhurong) ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารของจีนในภารกิจเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) และข้อมูลจากยานไวกิง-2 (Viking-2) ของนาซา (NASA) ซึ่งทั้งสองลำได้ลงจอดในภูมิภาคยูโทเปีย พลานิเทีย
ความก้าวหน้านี้ซึ่งเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์อิคารัส (Icarus) ช่วยเติมเต็มช่องว่างในการวิจัยการสำรวจอวกาศ เนื่องจากดินจำลองที่ถูกสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้มักเน้นไปยังพื้นที่ที่ราบสูงทางใต้ของดาวอังคาร ทำให้การพัฒนาดินจำลองจากที่ราบต่ำทางเหนือมักถูกมองข้ามไป
อนึ่ง ยูโทเปีย พลานิเทีย เป็นแอ่งอุกกาบาตขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3,300 กิโลเมตร ซึ่งยานจู้หรงของจีนลงจอดที่บริเวณนี้เมื่อปี 2021 โดยพื้นที่นี้ถือว่ามีความสำคัญทางธรณีวิทยาอย่างมาก เพราะอาจมีหลักฐานเกี่ยวกับอดีตของน้ำในดาวอังคาร
ทีมนักวิจัยจากสถาบันธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ (IGG) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน นำโดยหลี่โส่วติ้ง หลี่เจวียน และหลินหงเหล่ย ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องมือบนยานจู้หรง ซึ่งตรวจพบแร่ธาตุที่มีน้ำ อาทิ ยิปซัมและดินเหนียว ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับน้ำในอดีต ทำให้พื้นที่นี้ของดาวอังคารมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการศึกษา
ทั้งนี้ ทีมวิจัยใช้วิธีการใหม่ที่ผสมผสานความเชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเข้ากับวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ เพื่อสร้างองค์ประกอบของดินที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคยูโทเปีย พลานิเทียขึ้นใหม่ เริ่มจากการใช้หินบะซอลต์บดจากมณฑลซานตงทางตะวันออกเป็นวัสดุตั้งต้น ก่อนจะผสมแร่ธาตุเฉพาะลงไปตามสูตรที่ออกแบบไว้ จากนั้นจึงนำไปวิเคราะห์และปรับแต่งเพิ่มเติมเพื่อเลียนแบบคุณสมบัติของดินที่พบบนดาวอังคาร ซึ่งดินจำลองนี้มีความใกล้เคียงกับเรโกลิธ (regolith) ของดาวอังคารถึงร้อยละ 86.1
ทีมวิจัยได้ทำการทดสอบดินจำลองยูพีอาร์เอส-1 แบบแม่นยำ เพื่อรับรองว่ามันมีคุณสมบัติเชิงกลที่จำลองมาจากตัวชี้วัดสำคัญของดินบนดาวอังคาร ซึ่งจะช่วยให้วิศวกรสามารถออกแบบยานลงจอดและยานสำรวจที่แข็งแรงยิ่งขึ้นในอนาคต โดยดินจำลองยูพีอาร์เอส-1 ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่ยาวนานในวงการสำรวจอวกาศ โดยเฉพาะหลังจากที่ภารกิจยานสำรวจอินไซต์ (InSight) ขององค์การนาซาในปี 2020 ประสบปัญหาในการเจาะพื้นผิวดาวอังคาร
ดินจำลองนี้ยังเปิดโอกาสใหม่ให้กับการวิจัยด้านการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ โดยเอื้อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการสกัดน้ำจากดินดาวอังคาร ซึ่งจะสนับสนุนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บนดาวอังคารในอนาคต
(ภาพจากองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน : ภาพเซลฟีของจู้หรง ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีน กับแพลตฟอร์มลงจอด เผยแพร่วันที่ 11 มิ.ย. 2021)