เหอเฝย, 8 ก.ค. (ซินหัว) -- สมาคมสำรวจอวกาศห้วงลึกนานาชาติ (IDSEA) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาการระดับนานาชาติที่มุ่งสำรวจห้วงอวกาศลึก เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันจันทร์ (7 ก.ค.) ในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระดับโลกในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติในอวกาศส่วนนอก
สมาคมฯ เป็นโครงการริเริ่มร่วมกันโดยห้องปฏิบัติการสำรวจอวกาศห้วงลึกในเมืองเหอเฝย ศูนย์การสำรวจดวงจันทร์และโครงการอวกาศ สังกัดองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) สมาคมนักบินอวกาศจีน สมาคมวิจัยอวกาศจีน และโครงการของฝรั่งเศสชื่อ "แพลนเนตทารี เอ็กซ์พลอเรชัน, ฮอริซอน 2061" (Planetary Exploration, Horizon 2061) โดยการก่อตั้งสมาคมนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการจีน 20 คน และนักวิทยาศาสตร์นานาชาติอีก 31 คน
อู๋เหว่ยเหริน หัวหน้านักออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานคนแรกของสมาคมฯ กล่าวว่าการก่อตั้งสมาคมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการอวกาศของจีน เนื่องจากถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมร่วมกันภายในประชาคมอวกาศระดับโลก
อู๋กล่าวว่าสมาคมฯ จะมุ่งเน้นด้านต่างๆ เช่น การสำรวจดวงจันทร์ การสำรวจดาวเคราะห์ และการป้องกันภัยจากดาวเคราะห์น้อย โดยจะดำเนินการศึกษาทิศทางของการสำรวจอวกาศห้วงลึกระดับนานาชาติ จัดกิจกรรมวิชาการระหว่างประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศระดับโลก มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศส่วนนอก ตลอดจนผลักดันการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างสันติและยั่งยืน
อู๋ยังได้เชิญชวนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจากทั่วโลกให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ และมีส่วนร่วมในการสำรวจจักรวาล โดยชี้ว่าแม้จีนจะเริ่มต้นการสำรวจอวกาศช้ากว่าประเทศอื่น แต่จีนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในวงการนี้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งแสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกับนานาชาติ
เมื่อเดือนเมษายน 2025 จีนได้ประกาศอนุญาตให้สถาบัน 7 แห่งจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น ปากีสถาน สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ยืมตัวอย่างดินจากดวงจันทร์ที่เก็บโดยภารกิจฉางเอ๋อ-5 (Chang'e-5) ของจีน เพื่อใช้ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และจีนยังได้เชิญพันธมิตรทั่วโลกให้เข้าร่วมภารกิจสำรวจดาวอังคาร โดยมีแผนปล่อยภารกิจเทียนเวิ่น-3 (Tianwen-3) เพื่อเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารกลับมายังโลกราวปี 2028 โดยมีเป้าหมายหลักทางวิทยาศาสตร์คือการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างจากดาวอังคารกลับสู่โลก ซึ่งเป็นภารกิจลักษณะนี้ครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ถือเป็นภารกิจสำรวจอวกาศที่มีความท้าทายทางเทคนิคมากที่สุดนับตั้งแต่โครงการอะพอลโล (Apollo)
(แฟ้มภาพซินหัว : อู๋เหว่ยเหริน หัวหน้านักออกแบบโครงการสำรวจดวงจันทร์ของจีน และนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมจีน ได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของสมาคมสำรวจอวกาศห้วงลึกนานาชาติ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดสมาคมฯ ที่เมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน วันที่ 7 ก.ค. 2025)