ฮิวสตัน, 13 มิ.ย. (ซินหัว) -- ผลสำรวจจากศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ที่เผยแพร่วันพฤหัสบดี (12 มิ.ย.) พบคะแนนภาพลักษณ์โดยรวมของสหรัฐฯ ลดลงใน 15 ประเทศเมื่อนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว โดยลดลงมากกว่า 20 จุดในเม็กซิโก สวีเดน โปแลนด์ และแคนาดา
การกลับสู่ทำเนียบขาวของโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นปัจจัยเบื้องหลังการลดลงดังกล่าว โดยทรัมป์ได้รับคะแนนเชิงลบเป็นส่วนใหญ่ใน 24 ประเทศกลุ่มสำรวจ ขณะผลสำรวจภาพรวมพบคนวัยผู้ใหญ่มีมุมมองต่อสหรัฐฯ ในเชิงบวกและเชิงลบเท่ากันด้วยค่ามัธยฐานอยู่ที่ร้อยละ 49
ประชาชนในสวีเดนมองสหรัฐฯ เชิงลบมากที่สุดถึงร้อยละ 79 ส่วนประชาชนมากกว่า 6 ใน 10 คนในประเทศเพื่อนบ้านสหรัฐฯ อย่างแคนาดาและเม็กซิโกมองสหรัฐฯ ในเชิงลบ ซึ่งเหมือนกับประชาชนส่วนใหญ่ในออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สเปน และตุรกีที่มองสหรัฐฯ ในเชิงลบ
อย่างไรก็ดี ประชาชนส่วนใหญ่ในอิสราเอลมองสหรัฐฯ ในเชิงบวกมากที่สุดถึงร้อยละ 83 เช่นเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ในบราซิล ฮังการี ญี่ปุ่น เคนยา ไนจีเรีย โปแลนด์ และเกาหลีใต้ ที่มองสหรัฐฯ ในเชิงบวก
รายงานเสริมว่าประชาชนใน 8 ประเทศมีแนวโน้มยกสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลก สวนทางกับ 12 ประเทศที่ยกให้จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจมากกว่า ขณะอีก 4 ประเทศมองสหรัฐฯ และจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่ากัน
สำหรับมุมมองต่อระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐฯ พบร้อยละ 50 มองว่าดี ขณะร้อยละ 46 มองว่าย่ำแย่ โดยส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าสหรัฐฯ เผชิญความขัดแย้งแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามขั้วพรรคการเมืองอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันประชาชนมากกว่าครึ่งหนึ่งใน 19 ประเทศกลุ่มสำรวจไม่เชื่อมั่นภาวะผู้นำของทรัมป์ในกิจการโลก
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศกลุ่มสำรวจส่วนใหญ่เชื่อมั่นเล็กน้อยหรือแทบไม่เชื่อมั่นความสามารถของทรัมป์ในการจัดการปัญหาเฉพาะต่างๆ ทั้งผู้อพยพ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีน ปัญหาเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้าน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทว่า ประเทศกลุ่มสำรวจส่วนใหญ่มีมุมมองเกี่ยวกับทรัมป์แตกต่างกันอย่างมากตามอุดมการณ์และพรรคการเมือง โดยประชาชนที่วางตัวเป็นฝ่ายขวาและสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายขวาในยุโรปมีแนวโน้มมองทรัมป์ในเชิงบวกมากกว่า
อนึ่ง การสำรวจนี้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน 28,333 คนใน 24 ประเทศ ยกเว้นสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 8 ม.ค.-26 เม.ย. โดยศูนย์วิจัยฯ ได้สำรวจทัศนคติของนานาชาติที่มีต่อสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ มานานกว่าสองทศวรรษแล้ว ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงสำคัญในความคิดเห็นของสาธารณชน
(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนชุมนุมใกล้อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของสหรัฐฯ วันที่ 18 ก.ย. 2021)