เฉิงตู, 12 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ เหล่าผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และตัวแทนองค์กรต่างๆ จากกว่า 20 ประเทศและภูมิภาค จำนวนกว่า 200 คน ได้เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดิจิทัล ครั้งที่ 9 ระยะ 3 วัน ในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ของจีน เพื่อหารือความร่วมมือและแนวโน้มการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก
การประชุมครั้งนี้จัดโดยโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดิจิทัล (DBAR) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเฉิงตู ร่วมกับศูนย์วิจัยนานาชาติด้านข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยกัวหัวตง ประธานโครงการฯ กล่าวว่าปัจจุบันโครงการฯ เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นแพลตฟอร์มแก้ไขปัญหาที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN)
กัว ซึ่งเป็นนักวิชาการประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวว่าโครงการฯ เริ่มต้นจากส่งเสริมเทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาต้า (big data) และการประยุกต์ใช้งานในกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ครอบคลุมแอฟริกา อาเซียน เอเชียกลาง และยุโรป
โครงการฯ จะเดินหน้ากระชับความร่วมมือกับรัฐบาลของนานาประเทศ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลัก ขณะปี 2025 ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี 2030
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าศูนย์ความเป็นเลิศระหว่างประเทศประจำโครงการฯ ณ กรุงเทพฯ ถือเป็นศูนย์วิจัยระดับภูมิภาคแห่งแรกของโครงการฯ ที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับภูมิภาคและนานาชาติอย่างแข็งขันตั้งแต่เปิดทำการปี 2018 พร้อมเสริมว่าโลกควรเร่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและความร่วมมือแบบสหวิทยาการเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้และการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล
ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ได้นำเสนอการสร้างศูนย์ประยุกต์ใช้การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมอาเซียน-จีน และศูนย์ข้อมูลการสำรวจระยะไกลล้านช้าง-แม่โขง โดยมีไทยเป็นผู้นำการดำเนินงาน รวมถึงผลักดันการแบ่งปันข้อมูลข้ามพรมแดนและการเสริมสร้างขีดความสามารถระดับภูมิภาค พร้อมกระตุ้นความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนกับโครงการฯ เพื่อร่วมสร้างกลไกประสานงานสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
อนึ่ง โครงการฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับสถาบัน 6 แห่ง เช่น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติของไทย มหาวิทยาลัยพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของกานา และมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิของฟินแลนด์ ในการประชุมครั้งนี้ด้วย
(แฟ้มภาพซินหัว : พิธีเปิดการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางดิจิทัล ครั้งที่ 9 ในเมืองเฉิงตู มณฑลซื่อชวนทางตะวันตกเฉียงใต้ วันที่ 9 มิ.ย. 2025)