ซิดนีย์, 11 มิ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (10 มิ.ย.) สถาบันวิจัยกุมารเวชศาสตร์ของออสเตรเลียรายงานว่าคณะนักวิทยาศาสตร์ของออสเตรเลียและนานาชาติได้เปิดตัวเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถวิเคราะห์ตัวอย่างมะเร็งทั่วโลกอย่างไว้ใจได้ ซึ่งปูทางสู่การรักษามะเร็งรายบุคคลพร้อมปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วยมากขึ้น และช่วยแพทย์จับคู่การบำบัดรักษากับผู้ป่วยแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น
การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์โปรตีน (proteomes) จากตัวอย่างมะเร็ง 7,525 รายการ ซึ่งเก็บรวบรวมจากกลุ่มวิจัยร่วม 30 กลุ่มใน 6 ประเทศ (ออสเตรเลีย สหรัฐฯ แคนาดา สเปน กรีซ และออสเตรีย) โดยทีมงานของสถาบันฯ ในนครซิดนีย์ใช้การเรียนรู้เชิงลึกแบบรวมศูนย์มาฝึกอบรมโมเดลปัญญาประดิษฐ์ในท้องถิ่น เพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ใช่ข้อมูลละเอียดอ่อนกับเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลาง
วารสารแคนเซอร์ ดิสคัฟเวอรี (Cancer Discovery) ระบุว่าวิธีการข้างต้นช่วยให้ทีมงานสามารถสร้างเครื่องมือวินิจฉัยระดับโลกที่มีความแม่นยำโดยไม่ต้องถ่ายโอนข้อมูลผู้ป่วยระหว่างสถาบันต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเอาชนะความยากลำบากในการรวบรวมชุดข้อมูลมะเร็งขนาดใหญ่ที่เกิดจากกฎหมายความเป็นส่วนตัวอันเข้มงวดและความแตกต่างทางเทคนิคในวิธีการของห้องปฏิบัติการ
โรเจอร์ เรดเดล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยฯ และหัวหน้าหน่วยวิจัยโรคมะเร็ง กล่าวว่าวิธีการนี้บูรณาการข้อมูลการวิเคราะห์โปรตีนที่ได้จากเทคนิคต่างๆ ซึ่งเพิ่มพูนความแม่นยำของการวินิจฉัย พร้อมเสริมว่าการวิจัยนี้มุ่งใช้ข้อมูลการวิเคราะห์โปรตีนมาชี้แนะการรักษามะเร็ง และแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์เป็นความก้าวหน้าสำคัญของแวดวงวิทยามะเร็งที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้แล้ว
(แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าจับจ่ายสินค้าที่ซูเปอร์มาเก็ตในเมืองแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 29 พ.ค. 2025)