เสิ่นหยาง, 10 มิ.ย. (ซินหัว) -- แหล่งโบราณคดีหนิวเหอเหลียงในเมืองเฉาหยาง มณฑลเหลียวหนิงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งถูกค้นพบในปี 1981 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการศึกษาวัฒนธรรมหงซานของจีน
แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นสถานที่ฝังศพและทำพิธีทางศาสนาขนาดใหญ่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่กลางวัดแห่งเทพธิดา ล้อมรอบด้วยแท่นบูชาและหลุมศพหิน โดยรูปปั้นเทพธิดาที่ขุดพบที่นี่ ทำให้ชุมชนโบราณคดีในจีนและต่างประเทศต่างตื่นเต้น
หลู่เสี่ยวอิ๋ง เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์แหล่งโบราณคดีหนิวเหอเหลียง กล่าวว่ารูปปั้นเทพธิดาเป็นสิ่งที่พบเจอได้ทั่วยูเรเซียในช่วงปลายยุคหินใหม่ แต่ไม่เคยพบเจอรูปปั้นบูชาสตรีในจีน ทำให้การค้นพบรูปปั้นเทพธิดานี้เป็นเรื่องพิเศษ โดยรูปลักษณ์ใกล้เคียงกับลักษณะทางเชื้อชาติของคนยุคนั้นมาก
อนึ่ง วัดแห่งเทพธิดาทอดยาวจากเหนือจดใต้ราว 22 เมตร และมีความกว้างหลายระดับระหว่าง 2-9 เมตร
หลู่กล่าวว่าวัดแห่งเทพธิดาเมื่อประมาณ 5,000-5,500 ปีก่อนเป็นโครงสร้างกึ่งใต้ดิน ส่วนที่อยู่บนดินสร้างด้วยไม้และหญ้า ซึ่งถูกไฟไหม้ในเวลาต่อมา จึงเหลือแต่ส่วนใต้ดินที่ลึกราว 0.8-1 เมตร ขณะรูปปั้นเทพธิดาถูกขุดพบตรงจุดที่จัดแสดงในปัจจุบัน
ผลการหาอายุด้วยคาร์บอน-14 บ่งชี้ว่าข้างใต้ทางเดินตรงกลางมีรูปปั้นดินเหนียวขนาดเท่าคนจริงหรือใหญ่กว่าคนจริง 6-7 ชิ้น และบางส่วนมีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ถึง 3 เท่า โดยคณะนักโบราณคดีเชื่อว่าวัดแห่งเทพธิดาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้นำระดับสูงมาสักการะบูชา