ปักกิ่ง, 10 มิ.ย. (ซินหัว) -- การประกาศข้อบังคับใหม่เมื่อไม่นานนี้ของจีน ซึ่งมุ่งกระชับมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับแร่ธาตุหายากบางประเภท ถือเป็นมาตรการที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนภายในประเทศ สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดการระหว่างประเทศ และสะท้อนความรับผิดชอบของจีนในฐานะประเทศใหญ่ รวมถึงเน้นย้ำความรับผิดชอบในฐานะผู้จัดหาแร่ธาตุสำคัญของโลกและความมุ่งมั่นเดินหน้าการพัฒนาร่วมกันของโลก ไม่ใช่ "มาตรการตอบโต้เชิงยุทธวิธี" อย่างที่บางส่วนกล่าวอ้าง
การควบคุมการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับแร่ธาตุหายากบางประเภทของจีนไม่ใช่อุปสรรคทางการค้าที่มุ่งเป้าไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นมาตรการที่มีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามข้อผูกพันเกี่ยวกับการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ รวมถึงสะท้อนความมุ่งมั่นของจีนในการรักษาสันติภาพของโลกและเสถียรภาพของภูมิภาคภายใต้การดำเนินการตามหลักการไม่เลือกปฏิบัติ
แร่ธาตุหายากไม่เพียงสำคัญต่อการผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกังหันลมเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในอุปกรณ์ทางทหารขั้นสูง เช่น เครื่องบินรบและอุปกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้การป้องกันไม่ให้ทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์นี้ถูกนำไปใช้เพื่อทำลายสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศถือเป็นพันธกรณีการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ร่วมกันของทุกประเทศ
ข้อเท็จจริงคือการควบคุมการส่งออกวัสดุเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้สองทางถือเป็นแนวปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสิทธิตามกฎหมายของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยในการคุ้มครองความมั่นคงของชาติและปฏิบัติตามความรับผิดชอบระหว่างประเทศ
นอกจากนั้นข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับแร่ธาตุหายากของจีนสะท้อนการปฏิรูปอุตสาหกรรมที่จำเป็น โดยการพัฒนาวงกว้างและไร้การควบคุมในอดีตนำสู่การประเมินค่าของทรัพยากรต่ำเกินไปและก่อความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศ ซึ่งแนวทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนี้ไม่เพียงสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ แต่ยังสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานเชิงอุตสาหกรรมทั่วโลกในระยะยาวอีกด้วย
การดำเนินการของจีน ซึ่งรวมถึงข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการบริหารแร่ธาตุหายากที่ประกาศในปี 2024 ได้แสดงความมุ่งมั่นของจีนในการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและยั่งยืน มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงคุ้มครองระบบนิเวศภายในประเทศ แต่ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของการจัดหาแร่ธาตุหายากแก่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมแร่ธาตุหายากของจีนที่ได้รับการควบคุมอย่างดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะส่งผลประโยชน์แก่ผู้ใช้งานทั่วโลกในท้ายที่สุด
แม้มีการบิดเบือนข้อมูลจากสื่อตะวันตกบางส่วน แต่เป้าประสงค์ของจีนคือควบคุมการส่งออก ไม่ใช่การห้ามส่งออก และอำนวยความสะดวกแก่การค้าที่ยึดถือข้อบังคับที่กำหนด ไม่ใช่ขัดขวางกิจกรรมการค้าตามปกติ ตัวอย่างเช่นหวังเหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ยืนยันกับฝ่ายสหภาพยุโรป (EU) และฝ่ายอื่นๆ เมื่อไม่นานนี้ว่าจีนยินดีจะจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการยื่นคำร้องที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์และเร่งกระบวนการอนุมัติ ขณะเดียวกันทีมงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดต่อสื่อสารประเด็นนี้อย่างทันท่วงที
อนึ่ง การตอบสนองเชิงสร้างสรรค์และการปรับเปลี่ยนเชิงปฏิบัติเหล่านี้แสดงความมุ่งมั่นจริงใจของจีนในการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนเพื่อลดทอนผลกระทบของมาตรการกำกับดูแลการค้าอันถูกต้องตามกฎหมาย
ความพยายามกระชับการจัดการทรัพยากรเชิงยุทธศาสตร์ของจีนมักเป็นที่สนใจในยามความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-สหรัฐฯ ทวีความรุนแรง และภาคธุรกิจเทคโนโลยีสำคัญเผชิญข้อจำกัดอันไม่ยุติธรรม ทว่าการมองมาตรการเหล่านี้ของจีนเป็นเครื่องมือต่อรองระยะสั้นนั้นประเมินความลึกซึ้งเชิงยุทธศาสตร์ในการตัดสินใจทางนโยบายของจีนต่ำเกินไป
ข้อบังคับเกี่ยวกับแร่ธาตุหายากของจีนเป็นการตัดสินใจที่รอบคอบบนพื้นฐานของบรรทัดฐานสากลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ความจำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนของประเทศ และความรับผิดชอบในฐานะประเทศใหญ่
ชาติตะวันตกควรให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจและปรับตัวเข้ากับมาตรการใหม่ของจีนมากกว่าเอนเอียงตามกระแสวิตกกังวล "แยกตัวทางเศรษฐกิจ" หรือแนวคิดผิดๆ ที่มองแร่ธาตุหายากเป็น "อาวุธเชิงยุทธศาสตร์" ขณะเดียวกันมีเพียงการเจรจาหารืออย่างตรงไปตรงมาและความร่วมมือเท่านั้นที่จะช่วยรับรองว่าทรัพยากรสำคัญนี้ยังคงสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลกและการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้กรอบสันติภาพและความยั่งยืน
(แฟ้มภาพซินหัว : เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จอดเทียนท่าเรือเฉียนวานในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 13 ม.ค. 2025)