เยรูซาเล็ม, 9 มิ.ย. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาระดับนานาชาติฉบับใหม่พบว่าผู้คนสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้นผ่านการปรับเปลี่ยนอาหารการกินและวิถีชีวิตแม้ไม่ได้ลดน้ำหนัก โดยการศึกษานี้มุ่งเน้นกลุ่มคนที่ "ดื้อการลดน้ำหนัก" อันหมายถึงคนที่ปรับพฤติกรรมสุขภาพอย่างเหมาะสมแล้วแต่ยังลดน้ำหนักได้ยาก
การศึกษานี้ตั้งคำถามกับความเชื่อดั้งเดิมว่าน้ำหนักที่ลดลงคือสัญญาณเบื้องต้นของความสำเร็จในการควบคุมอาหาร โดยคณะนักวิจัยพบว่าผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ไม่ได้มีน้ำหนักตัวลดลงกลับแสดงพัฒนาการอันดีในตัวชี้วัดทางสุขภาพที่สำคัญหลายประการอย่างชัดเจน
คณะนักวิจัยได้ติดตามผู้ใหญ่ 761 คน เป็นเวลา 18-24 เดือน ซึ่งผู้เข้าร่วมทุกคนปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตโดยปราศจากการรับประทานอาหารเสริมหรือยา และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามกำหนด รวมถึงได้รับสิทธิใช้ยิมหรือฟิตเนสและคำแนะนำการออกกำลังกายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้เข้าร่วมราวหนึ่งในสามไม่ได้มีน้ำหนักลดลงเมื่อสิ้นสุดระยะทดลอง แม้ปฏิบัติตัวตามแผนการทดลองอย่างเคร่งครัด ทว่าแสดงพัฒนาการอันดีในด้านระบบเผาผลาญ ทั้งมีไขมันดี (HDL) สูงขึ้น ฮอร์โมนเลปติน (leptin) ซึ่งผลิตจากเซลล์ไขมันลดลง และไขมันหน้าท้องลดลง ซึ่งยืนยันผ่านการสแกนด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI)
คณะนักวิจัยได้ระบุตัวบ่งชี้ทางพันธุกรรม 12 ประการ ที่อาจมีอิทธิพลต่อการลดน้ำหนักผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ซึ่งนี่อาจช่วยวางแผนอาหารการกินในอนาคตของแต่ละบุคคล โดยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นประโยชน์กับสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญแม้น้ำหนักไม่ลดลง โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและโรคเบาหวาน
อนึ่ง การศึกษาฉบับนี้จัดทำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบนกูเรียนของอิสราเอล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยไลพ์ซิก และเผยแพร่ผ่านวารสารยูโรเปียน เจอร์นัล ออฟ พรีเวนทีฟ คาร์ดิโอโลจี (European Journal of Preventive Cardiology)
(แฟ้มภาพซินหัว : นักกีฬาเข้าร่วมงานวิ่งมาราธอนลอนดอน ปี 2025 ในกรุงลอนดอนของสหราชอาณาจักร วันที่ 27 เม.ย. 2025)