ซิดนีย์, 6 มิ.ย. (ซินหัว) -- ทีมนักวิจัยของออสเตรเลียเปิดเผยวิธีการทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถรับรู้ทางอารมณ์ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการวางรากฐานสำหรับปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรที่มีความเห็นอกเห็นใจและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
รายงานจากมหาวิทยาลัยอีดิธ โคแวนในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่บนเว็บไซต์ไซแอนซ์ มีเดีย เอ็กซ์เชนจ์ (Science Media Exchange) เมื่อวันพุธ (4 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ระบุว่าแม้จะยังไม่ได้นำไปประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์จริง แต่ในไม่ช้า การวิจัยนี้อาจส่งผลต่อระบบความฉลาดทางอารมณ์ในด้านการสนับสนุนสุขภาพจิต การบริการลูกค้า และการศึกษาทั่วโลก
รายงานระบุว่าทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ ได้ก้าวข้ามเทคนิคแบบดั้งเดิมที่วิเคราะห์ภาพใบหน้าแบบเดียว โดยหันมาฝึกปัญญาประดิษฐ์ด้วยชุดภาพสีหน้าแสดงอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกันแทน ซึ่งช่วยให้สามารถตีความอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้งและใกล้เคียงกับมนุษย์มากยิ่งขึ้น
ชาร์จีล ตาฮีร์ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของการศึกษานี้ กล่าวว่าวิธีนี้ใช้การแสดงสีหน้าหลายแบบเพื่อให้มีข้อมูลประกอบการคาดเดาอารมณ์มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เราไม่ตัดสินความรู้สึกของผู้อื่นจากการมองเพียงครั้งเดียว อีกทั้งแนวทางนี้ยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ แม้ใบหน้าจะปรากฏในมุมหรือภายใต้แสงที่ต่างกัน
นีมา เมียร์นาเตกี หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่าการให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้สัญญาณภาพที่หลากหลายภายในกลุ่มข้อมูลที่มีโครงสร้าง ไม่เพียงช่วยเพิ่มความแม่นยำ แต่ยังทำให้เทคโนโลยีมีประสิทธิภาพด้วย
ขณะนี้ทีมนักวิจัยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจแบบประดิษฐ์ (artificial empathy) เพื่อให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ตอบสนองต่ออารมณ์ของมนุษย์ได้อย่างเหมาะสม และทำให้กระบวนการตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์โปร่งใสและเข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
ด้านซายิด อาฟัค ชาห์ อาจารย์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ประจำมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่างานวิจัยนี้กำลังวางรากฐานให้กับเครื่องจักรกลที่สามารถเข้าใจและตอบสนองต่อความรู้สึกของผู้คนได้อย่างแท้จริง
(แฟ้มภาพซินหัว : เด็กๆ ถือของเล่นที่ตลาดงานฝีมือแคนเบอร์รา ปี 2024 ที่เอ็กซ์ฮิบิชัน ปาร์กในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 29 มิ.ย. 2024)