ปักกิ่ง, 4 มิ.ย. (ซินหัว) -- จีนเร่งบูรณาการเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหรือโดรนกับระบบฉุกเฉินทางการแพทย์ โดยเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม เทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือได้เปิดเส้นทางโดรนทางการแพทย์สายแรก และมีการทดสอบจำลองเที่ยวบินส่งเลือดฉุกเฉินจากสถานีรับบริจาคเลือดในเขตใหม่ปินไห่ไปยังโรงพยาบาลมะเร็ง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เทียนจิน สาขาปินไห่ได้สำเร็จ
โดรนเหล่านี้สามารถบรรทุกน้ำหนัก 5 กิโลกรัม และติดตั้งกล่องควบคุมอุณหภูมิสำหรับเวชภัณฑ์ พร้อมระบบติดตามตำแหน่ง อุณหภูมิ และสถานะการบินแบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถขนส่งแบบจุดต่อจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหารถติด และประหยัดเวลาทุกเสี้ยวนาทีที่มีค่าในการรักษาฉุกเฉิน
เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ (low-altitude economy) ของจีนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้บริการทางการแพทย์ในแวดวงการบินระดับต่ำมีการขยายขอบเขตการใช้งาน และพลิกโฉมระบบสาธารณสุขอย่างไม่เคยมีมาก่อน
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจีนได้บรรจุ "บริการขนส่งทางอากาศทางการแพทย์" ไว้ในบัญชีราคาค่าบริการทางการแพทย์ของประเทศ พร้อมสั่งให้กำหนดราคามาตรฐานในพื้นที่ระดับมณฑลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม 2025 อีกทั้งสนับสนุนให้บริษัทประกันสุขภาพเชิงพาณิชย์ร่วมให้การคุ้มครองบริการนี้ด้วย ซึ่งมีส่วนเร่งการประยุกต์ใช้อากาศยานบินระดับต่ำในทางการแพทย์
แรงสนับสนุนจากทั้งเทคโนโลยีและนโยบาย ส่งผลให้มณฑลต่างๆ อาทิ เจ้อเจียง กว่างตง (กวางตุ้ง) และฝูเจี้ยน เร่งสำรวจการใช้โดรนในระบบการแพทย์ โดยใช้ขนส่งตัวอย่างทดสอบ เลือด เวชภัณฑ์ และยาฉุกเฉิน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาอย่างทันท่วงที
ขณะเดียวกัน อากาศยานไร้คนขับได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของงานบริการทางการแพทย์ตามปกติในเมืองจื้อก้ง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยคณะกรรมาธิการสาธารณสุขของเมืองระบุว่าปัจจุบันจื้อก้งได้เปิดเส้นทางการบินระดับต่ำ 25 เส้นทาง เชื่อมโยงสถานที่ 28 แห่งสำหรับการขนส่งทางการแพทย์ โดยอากาศยานไร้คนขับได้ปฏิบัติภารกิจขนส่งทางการแพทย์แล้ว 5,270 เที่ยวบิน เมื่อนับถึงวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา
โดรนที่ใช้เป็นรุ่นควบคุมผ่านระบบคลาวด์ ออกแบบสำหรับปฏิบัติงานในเขตเมือง โดยสามารถบินด้วยความเร็ว 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในรัศมี 18 กิโลเมตร ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งภาคพื้นดินถึงร้อยละ 70-80
เจ้าหน้าที่ด้านการขนส่งของโรงพยาบาลประชาชนแห่งแรกประจำเมืองจื้อก้ง เปิดเผยว่าก่อนหน้านี้มีการใช้อากาศยานไร้คนขับขนส่งยาฉุกเฉินเมื่อสิงหาคม 2024 ซึ่งโดยปกติการขนส่งทางบกระหว่างโรงพยาบาลสาขาป่านชางถึงสำนักงานใหญ่ใช้เวลาราว 30-40 นาที แต่เมื่อใช้โดรนแล้วสามารถลดเวลาลงเหลือเพียง 11 นาที
ห่าวจี้ฮุย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็ง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เทียนจิน ระบุว่าระบบขนส่งการบินระดับต่ำช่วยลดข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ เสริมประสิทธิภาพการตอบสนองเหตุฉุกเฉิน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ด้วยการลดทั้งต้นทุนและเวลาการขนส่ง โดยโรงพยาบาลฯ จะขยายการใช้อากาศยานไร้คนขับ เพื่อยกระดับการจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์ข้ามพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการบริการสุขภาพในหลายระดับให้ดียิ่งขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : เสิ่นจวิน รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็ง มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์เทียนจิน รับเลือดฉุกเฉินที่ขนส่งโดยอากาศยานไร้คนขับ ระหว่างเที่ยวบินทดสอบจำลองที่โรงพยาบาลฯ สาขาปินไห่ ในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน วันที่ 21 พ.ค. 2025)