หลานโจว, 1 มิ.ย. (ซินหัว) -- ปัจจุบัน หากคุณเดินทางเยือนหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา แหล่งมรดกโลกแห่งองค์การยูเนสโกในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ลองยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเบาๆ ก็จะได้เห็นกวางเก้าสีที่ประดับด้วยริ้วผ้าไหมตัวหนึ่ง "ลอย" ออกมาจากจิตรกรรมฝาผนังมาสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ในฉากเดียวกันนี้มีทั้งภาพจำลองเสมือนจริง ถ้ำของจริง และคนอยู่ร่วมกัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับ "พานลี่ฟาง" หรือ สิริญา วิชชาวุธ ผู้ช่วยรองประธานสมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน (Thai-Chinese Cultural and Economic Association) เป็นอย่างมาก
เมื่อวันศุกร์ (30 พ.ค.) เมืองตุนหวง เปิดฉากงานเสวนาครั้งที่ 4 ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม (The fourth Dialogue on Exchanges and Mutual Learning among Civilizations) โดยสิริญาเป็นแขกที่ได้เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ พร้อมเยี่ยมชมหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม
สิริญากล่าวว่าหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกาเป็นสถานที่สวยงามชวนประทับใจมาก รายละเอียดในวิดีโอที่นำเสนอผ่านเทคโนโลยีอย่างวีอาร์ (VR) เอไอ (AI) ฯลฯ มีความละเอียดมากกว่าที่เห็นด้วยตาเนื้อยามเยี่ยมชมสถานที่จริง
ขณะที่ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ของไทย กล่าวว่าการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อนนำไปใช้งานในขอบเขตที่กว้างขึ้น เช่น การจัดนิทรรศการเสมือนจริงทางออนไลน์ และ การสร้างฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน จะช่วยเอื้อให้นักเรียนต่างชาติสามารถสำรวจโบราณวัตถุหรือประติมากรรมของไทยได้ หรือกระทั่งทำให้ภัณฑารักษ์ชาวยุโรปสามารถศึกษาเทคนิคบาติกอันเป็นเอกลักษณ์ของอินโดนีเซียได้
ศุภวรรณเชื่อว่าสถาบันทางวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของไทย ตลอดจนสถาบันตุนหวงของจีน กำลังปกป้องสมบัติล้ำค่าของมนุษยชาติเหล่านี้อย่างเงียบๆ อันเป็นความพยายามที่ได้ก้าวข้ามขอบเขตของเชื้อชาติ ภาษา และกาลเวลา เธอเสริมด้วยว่าการสร้าง "เส้นทางสายไหมดิจิทัล" (Digital Silk Road) จะช่วยเชื่อมโยงโบราณวัตถุของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันจนกลายเป็นเครือข่ายความรู้ระดับโลก
หลิวเฉิงหย่ง ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งชาติจีน กล่าวว่าความร่วมมือด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างประเทศที่ศุภวรรณนำเสนอนั้น ได้ตอกย้ำฉันทามติ 3 ประการหลักของคณะผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ได้แก่ "ความร่วมมือระหว่างประเทศ" "การใช้พลังดิจิทัล" และ "การบ่มเพาะเยาวชน" พร้อมย้ำว่าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้สืบทอดและสืบสานอารยธรรมของมนุษยชาติ ไม่เพียงแต่เป็นผู้พิทักษ์ประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้สร้างอนาคตอีกด้วย
แวดวงวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์ของจีนเป็นผู้บุกเบิกกลุ่มแรกๆ ของโลกด้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปกป้องโบราณวัตถุ โดยช่วงต้นทศวรรษ 1990 สถาบันวิจัยตุนหวงได้เสนอแนวคิดเรื่อง "ดิจิทัล ตุนหวง" (Digital Dunhuang) และมุ่งใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีภาพดิจิทัลเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมและศิลปะของตุนหวง
หลังพัฒนามานานกว่า 30 ปี สถาบันตุนหวงได้จัดตั้งระบบเทคโนโลยีรอบด้าน ครอบคลุมตั้งแต่การรวบรวม การประมวลผล การจัดเก็บ และการจัดแสดงโบราณวัตถุแบบดิจิทัล พร้อมทั้งสะสมทรัพยากรดิจิทัลจำนวนมหาศาล เช่น การเก็บรวบรวมภาพถ่ายในรูปแบบดิจิทัล การสร้างภาพถ้ำแบบสามมิติ และการพาเที่ยวถ้ำแบบพาโนรามา
อนึ่ง ปี 2025 ถือเป็นวาระครบรอบ 125 ปี การค้นพบหมู่ถ้ำหินแกะสลักโม่เกา โดยเมื่อวันเสาร์ (31 พ.ค.) ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวแพลตฟอร์มฐานข้อมูล "ถ้ำเก็บพระสูตรดิจิทัล" ซึ่งเป็นครั้งแรกที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการนำเสนอ ตีความ และแบ่งปันข้อมูลโบราณวัตถุในถ้ำพระคัมภีร์แบบครอบคลุมรอบด้าน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1900 จีนค้นพบ "ถ้ำเก็บพระสูตร" ที่ถ้ำโม่เกาโดยบังเอิญ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีโบราณวัตถุถูกค้นพบจากถ้ำแห่งนี้มากกว่า 73,000 ชิ้น และกว่า 100 ปีที่ผ่านมา โบราณวัตถุจากถ้ำเก็บพระสูตรนี้ ที่ปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ในสถาบันของรัฐและเอกชนเกือบ 100 แห่งทั่วโลก กำลังค่อยๆ ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ส่งผลให้ "ตุนหวงศึกษา" กลายเป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันแพลตฟอร์มฐานข้อมูล "ถ้ำเก็บพระสูตรดิจิทัล" สามารถรวบรวมข้อมูลโบราณวัตถุจากถ้ำดังกล่าวได้ 74,651 รายการ เผยแพร่เอกสารและคัมภีร์แห่งตุนหวงมากกว่า 9,900 ฉบับ รูปภาพมากกว่า 60,700 ภาพ และระบุเนื้อหาในคัมภีร์ได้อีกกว่า 8.4 ล้านคำ
สิริญากล่าวว่า เมื่อหันกลับมามองมรดกอันล้ำค่าของตุนหวงแล้ว พวกเราจะเข้าใจว่าสังคมไม่ได้พัฒนาไปอย่างโดดเดี่ยว แต่เติบโตขึ้นผ่านการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน และ "ตุนหวง" คือสัญลักษณ์อันทรงพลังของสัจธรรมนี้