แคนเบอร์รา, 31 พ.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาระดับนานาชาติฉบับใหม่โดยมหาวิทยาลัยแอดิเลดในออสเตรเลีย ได้ยืนยันถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างภาวะซึมเศร้าในช่วงวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุกับความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อม
เมื่อวันศุกร์ (30 พ.ค.) มหาวิทยาลัยแอดิเลดในออสเตรเลียระบุว่าทีมนักวิจัยได้ดำเนินการทบทวนงานวิจัย 26 ฉบับอย่างครอบคลุม และเน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกันระหว่างภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัยกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากทุกสาเหตุ
เจคอป เบรน นักวิชาการระดับปริญญาเอกภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแอดิเลดและมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของการศึกษาข้างต้น กล่าวว่าผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงภาวะซึมเศร้ามีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคสมองเสื่อม ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ การป้องกันและรักษาภาวะซึมเศร้าในทุกช่วงวัย จึงเป็นเรื่องสำคัญ ในการส่งเสริมทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพของสมอง
โรคสมองเสื่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกกว่า 57 ล้านคน แม้ว่าการศึกษาก่อนหน้านี้จะเคยพบความเชื่อมโยงระหว่างโรคสมองเสื่อมกับภาวะซึมเศร้า แต่การศึกษาวิจัยใหม่นี้ให้ข้อมูลในรายละเอียดว่าช่วงเวลาที่เกิดภาวะซึมเศร้า และความรุนแรงของมัน อาจมีบทบาทสำคัญต่อความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมด้วย
การศึกษาดังกล่าว ได้รับการเผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ออนไลน์ อีคลินิคัลเมดิซีน (eClinicalMedicine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวารสารเดอะ แลนเซ็ต ดิสคัฟเวอรี ไซแอนซ์ (The Lancet Discovery Science) โดยเผยว่าความสัมพันธ์พื้นฐานระหว่างภาวะซึมเศร้าและโรคสมองเสื่อมมีความซับซ้อน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการอักเสบเรื้อรัง การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด การเสื่อมของระบบประสาท ตลอดจนปัจจัยทางพันธุกรรมหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่คล้ายๆ กัน
เบรนกล่าวว่าผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าภาวะซึมเศร้าในวัยสูงอายุอาจไม่ใช่แค่หนึ่งในปัจจัยเสี่ยง แต่อาจเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่ากำลังเริ่มเกิดโรคสมองเสื่อม พร้อมเสริมว่าการศึกษาครั้งนี้จะสร้างวิธีการใหม่ในการรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และการป้องกันโรคสมองเสื่อมในอนาคต
(แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกซื้อของชำที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 29 พ.ค. 2025)