เทียนจิน, 23 พ.ค. (ซินหัว) -- อำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งที่อยู่ห่างจากใจกลางกรุงฮานอยของเวียดนามราว 20 กิโลเมตร มีชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเป็นที่ที่ "เหงียน ลาน" หญิงสาวชาวเวียดนามวัย 24 ปี เติบโตมา โดยปัจจุบันเธอเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนของมหาวิทยาลัยเทียนจิน
เหงียนมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจ พี่ชายของเธอเปิดร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และพี่สาวของเธอเป็นผู้ประกอบการไฟแรง ทั้งหมดนี้ทำให้เธอมีความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจที่ดีตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลาย โดยเหงียนเริ่มขายของมือสองให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และติ๊กต็อก จนกลายเป็นไมโครอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 4,000 คน
ตอนแรกเหงียนโปรโมตสินค้าเวียดนาม แต่เกิดจุดเปลี่ยนเมื่อได้รู้จักโลกของอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนที่สร้างโอกาสขายสินค้าจีนในช่วงที่เธอเริ่มเรียนภาษาจีนพอดี ทำให้เธออยากพัฒนาทักษะภาษาและตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดียิ่งขึ้น โดยเหงียนเล็งเห็นความนิยมของสินค้าจีนในเวียดนามอย่างรวดเร็ว
ธุรกิจของเหงียนเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยความช่วยเหลือด้านการชำระเงินข้ามพรมแดนจากอาลีเพย์ (Alipay) และระบบโลจิสติกส์ระหว่างจีนกับเวียดนามที่มีประสิทธิภาพ โดยเธอมักสั่งซื้อสินค้ากับบริษัทอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีนอย่างเถาเป่า (Taobao) และพินตัวตัว (Pinduoduo) ก่อนขายให้ลูกค้าเวียดนามผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก
การสื่อสารภาษาจีนที่คล่องแคล่วขึ้นช่วยให้ธุรกิจของเหงียนดีขึ้นตามไปด้วย ทำให้รายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้นจาก 300 หยวน (ราว 1,360 บาท) เป็น 4,000-5,000 หยวน (ราว 18,000-23,000 บาท) ทว่าเหงียนยอมรับว่าเป็นงานหนัก เธอต้องดูแลลูกค้า จัดการงานโลจิสติกส์ ออกแบบโลโก้แบรนด์ และทำการ์ดขอบคุณด้วยตนเอง
เหงียนเล็งกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักเรียนนักศึกษา คัดเลือกสินค้าที่ตรงกับความชอบอย่างตั้งใจ พร้อมมอบของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แก่ลูกค้ากลุ่มนี้ที่ซื้อสินค้าครบตามเกณฑ์ ซึ่งความทุ่มเทช่วยให้เธอได้รับความไว้วางใจและเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม
อย่างไรก็ดี เมื่อชาวเวียดนามเริ่มเรียนภาษาจีนและขายสินค้าจีนบนติ๊กต็อกมากขึ้น การแข่งขันจึงสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เหงียนตัดสินใจมาเรียนต่อในจีนเพื่อความสำเร็จระยะยาวในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ซึ่งต้องใช้ทักษะภาษาและความเข้าใจวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ปี 2023 เหงียนได้เริ่มเรียนภาษาจีนสำหรับอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในมหาวิทยาลัยเทียนจิน และประทับใจในความสมบูรณ์และประสิทธิภาพของระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซของจีน โดยเธอเผยว่าแพลตฟอร์มของจีนมีความสมบูรณ์แล้ว มีสินค้าอยู่มากมาย ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ และประสบการณ์ชอปปิงที่ยอดเยี่ยม
เมื่อไม่นานนี้ เหงียนได้พบเห็นผู้ค้าในเมืองการค้าระหว่างประเทศอี้อูใช้ดีปซีค (DeepSeek) โมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่พัฒนาในจีน ซึ่งเพียงแค่บรรยายความต้องการหน้ากล้อง ปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างสคริปต์หลายภาษาสำหรับวิดีโอโปรโมต ทำให้สามารถสร้างเนื้อหาการตลาดข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว
เหงียนมองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะลดอุปสรรคการซื้อขายข้ามพรมแดนลงอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และช่วยธุรกิจขนาดเล็กขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยการผสมผสานปัญญาประดิษฐ์และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนจะส่งเสริมการพัฒนาการค้าโลกอย่างมาก
ทั้งนี้ เหงียนตั้งใจจะทำงานในวงการธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนต่อไป ทำความเข้าใจความต้องการของตลาดเวียดนามให้ดีขึ้น ส่งเสริมสินค้าจีนที่มีคุณภาพสูงในเวียดนาม และทำให้ตลาดจีนได้รู้จักสินค้าเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมถึงใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวิดีโอสั้นและสร้างเนื้อหาอีคอมเมิร์ซที่น่าสนใจยิ่งขึ้น
(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : เหงียน ลาน นักศึกษาหญิงชาวเวียดนาม ในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน เดือนตุลาคม 2024)
(ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์ : เหงียน ลาน นักศึกษาหญิงชาวเวียดนาม ในเทศบาลนครเทียนจินทางตอนเหนือของจีน เดือนเมษายน 2024)