ฮาร์บิน, 20 พ.ค. (ซินหัว) -- อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส และ 35 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิของเมืองฮาร์บินและกรุงเทพฯ ในเดือนพฤษภาคม และกว่า 4,000 กิโลเมตร คือระยะห่างของการบินระหว่างสองเมืองดังกล่าว ทว่าความแตกต่างทางอุณหภูมิและความห่างไกลนับพันกิโลเมตรนี้ไม่ได้หยุดยั้งความนิยมชมชอบ "อาหารไทย" ในเมืองแห่งน้ำแข็งอย่างฮาร์บินในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน
บูธแสดงสินค้าไทย ณ งานแสดงสินค้าทางเศรษฐกิจและการค้านานาชาติฮาร์บิน ครั้งที่ 34 ได้ต้อนรับผู้คนมากหน้าหลายตาเข้าเยี่ยมชมตั้งแต่เปิดต้อนรับสาธารณชนเมื่อวันอาทิตย์ (18 พ.ค.) โดยมีกลิ่นหอมอบอวลของข้าวหอมมะลิ กอปรกับเมนูผัดไทยและข้าวเหนียวมะม่วงจากฝีมือเชฟ "จิ้งตง" คอยดึงดูดความสนใจ ซึ่งอาหารไทยนั้นถือเป็นดาวเด่นอีกดวงหนึ่งนับตั้งแต่ไทยเข้าร่วมงานนี้ครั้งแรกในปี 2009
จิ้งตง วัย 30 ปีกว่า ซึ่งเป็นเชฟอาหารไทยมานาน 16 ปีแล้ว ปัจจุบันประจำอยู่ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งที่มีลูกค้าในช่วงสุดสัปดาห์เฉลี่ย 200-300 โต๊ะต่อวัน เผยว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างสมดุลของรสชาติอาหารจากเมืองร้อนกับคนกินที่อยู่เมืองหนาว ส่วนสิ่งที่ยากที่สุดในการเอาชนะใจคนฮาร์บินคือ "ข้าว" เพราะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเป็นแหล่งปลูกข้าวเมล็ดใหญ่เนื้อแน่นแตกต่างจากข้าวหอมมะลิของไทยอย่างมาก
หญิงแซ่หวัง นักท่องเที่ยวจากฮาร์บินที่ต่อคิวรับข้าวเหนียวมะม่วง แสดงความเห็นว่าข้าวหอมมะลิของไทยเหมาะจะรับประทานคู่กับผลไม้เพราะเมล็ดเล็กและเหนียวนุ่ม ส่วนข้าวของภูมิภาคจีนตะวันออกเฉียงเหนือหรือข้าวตงเป่ยเหมาะจะรับประทานคู่กับกับข้าวมื้อหลัก ซึ่งรสนิยมเช่นนี้ของคนท้องถิ่นส่งผลให้ร้านอาหารไทยบางส่วนในฮาร์บินเลือกเสิร์ฟข้าวตงเป่ยด้วย
รัตนภรณ์ ศรีจิตรเพชร หรือหลี่เหวินจิ้ง ผู้ดูแลบูธแสดงสินค้าไทย กล่าวว่าคนที่นี่ไม่ค่อยชอบกินข้าวหอมมะลิหุงสุก เธอจึงคิดหาวิธีส่งเสริมการขายข้าวหอมมะลิด้วยการประยุกต์เอาข้าวหอมและข้าวเหนียวของไทยมาหุงรวมและต้มเป็นโจ๊ก ซึ่งมีรสชาติหวานละมุนถูกปากจนมีลูกค้าแวะเวียนมาชิมกันหลายคน ทำให้รสหวานกลายเป็นเคล็ดลับไปแล้ว
ด้าน "ไท่เซียงเล่อ" ร้านอาหารที่เชฟจิ้งตงทำงานอยู่ได้เปิดขายเมนูต้มยำกุ้งหม้อไฟในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการอาหารร้อนๆ สร้างความอบอุ่นยามฮาร์บินอยู่ในฤดูหนาวอันยาวนานที่อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสนานราว 7 เดือน หรือบางทีอากาศหนาวเย็นจัดจนอุณหภูมิ -30 องศาเซลเซียส
นอกจากนั้น "ไท่หลานเซียง" ร้านอาหารไทยอีกแห่งในฮาร์บิน ได้เปิดขายเมนู "ต้มเล้งแซ่บภูเขาไฟ" ที่ใส่น้ำปลาน้อยลง เพื่อปรับรสชาติตามความนิยมของคนท้องถิ่นที่ไม่คุ้นชินกับกลิ่นคาวอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของน้ำปลา แต่หากเป็นลูกค้าชาวไทย เมนูนี้จะถูกปรุงรสชาติให้ได้ตามต้นตำรับความแซ่บเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี อาหารไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเผชิญปัญหาเรื่องราคาและปริมาณ โดยอาหารตงเป่ยนั้นขึ้นชื่อเรื่องให้เยอะจนอิ่มแน่ กอปรกับคนตงเป่ยให้ความสำคัญกับราคาด้วย จึงอาจเกิดอาการลูกค้าเบือนหน้าหนีได้ หากเห็นว่าให้ปริมาณน้อยแถมราคาสูงอีก
ทว่าเชฟจิ้งตงสำทับว่าเพื่อรับประกันรสชาติที่ดี ร้านไท่เซียงเล่อที่เขาทำงานอยู่ยังคงยืนกรานใช้วัตถุดิบนำเข้า แม้ลูกค้าที่เข้ามารับประทานจะต้องจ่ายเฉลี่ย 90 หยวน (ราว 413 บาท) ต่อคน ซึ่งสูงกว่าการรับประทานอาหารตงเป่ยที่จ่ายเฉลี่ย 30-50 หยวน (ราว 137-229 บาท) ต่อคน โดยเชฟจิ้งตงเสริมว่า "แค่เปลี่ยนน้ำกะทิ รสชาติก็เพี้ยนแล้ว"
เชฟจิ้งตงทิ้งท้ายว่าเขาหวังจะเปิดร้านอาหารไทยของตัวเองในอนาคต และเชื่อมั่นว่าตลาดยังคงต้องการทักษะทำอาหารไทยของเขาต่อไป
(แฟ้มภาพซินหัว : รัตนภรณ์ ศรีจิตรเพชร ณ บูธจัดแสดงสินค้าของไทยในงานแสดงสินค้าทางเศรษฐกิจและการค้านานาชาติฮาร์บิน ครั้งที่ 34 ในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 18 พ.ค. 2025)
(แฟ้มภาพซินหัว : เมนูต้มยำกุ้งที่ร้านอาหารไท่เซียงเล่อในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน)
(แฟ้มภาพซินหัว : เชฟ "จิ้งตง" โชว์เมนูต้มยำกุ้งที่ร้านอาหารไท่เซียงเล่อในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮยหลงเจียงทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน)