หางโจว, 20 พ.ค. (ซินหัว) -- งานวิจัยที่นำโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีและวิศวกรรมวัสดุหนิงโป สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเกาหลี (KAIST) ซึ่งเผยแพร่ในวารสารแมคโครโมเลกุล (Macromolecules) เปิดเผยว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาวัสดุโพลียูรีเทน (polyurethane) ชนิดใหม่ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างรวดเร็วใต้น้ำ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองของปลาดาวทะเลสีแดง ซึ่งมีศักยภาพสำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในด้านหุ่นยนต์และอุปกรณ์การแพทย์แบบฝังในร่างกาย
งานวิจัยระบุว่าวัสดุที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้มีคุณสมบัติในการซ่อมแซมความเสียหายเชิงโครงสร้างและการทำงานได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งช่วยยืดอายุการใช้งานและเพิ่มความทนทาน โดยโพลียูรีเทนถือเป็นวัสดุที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากมีการออกแบบที่ยืดหยุ่นและสังเคราะห์ได้ง่าย ทว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา โพลียูรีเทนยังมีข้อจำกัดในการซ่อมแซมตัวเองในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำ เนื่องจากโมเลกุลของน้ำจะรบกวนการแลกเปลี่ยนพันธะไดนามิกที่จำเป็นต่อการฟื้นตัวของวัสดุ
หลังจากนักวิจัยได้แรงบันดาลใจจากปลาดาวทะเลสีแดงซึ่งสามารถฟื้นฟูตัวเองใต้น้ำโดยการหลั่งเอนไซม์ชนิดหนึ่งออกมา จึงออกแบบโพลียูรีเทนชนิดใหม่ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ในอุณหภูมิห้อง แม้จะอยู่ในน้ำ
วัสดุดังกล่าวประกอบด้วยหน่วยที่ไม่รวมตัวกับน้ำ (hydrophobic units) แบบคู่และพันธะไดนามิกแบบเรียงต่อกัน ทำให้สามารถซ่อมแซมรอยขีดข่วนได้ด้วยประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 98 ภายใน 12 ชั่วโมงในน้ำ โดยมีอัตราการฟื้นฟูมากกว่า 33 ไมโครเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังระบุว่าโพลียูรีเทนชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้ากันได้ทางชีวภาพในระดับดีเยี่ยม ส่งผลให้เหมาะสำหรับการนำไปใช้งานกับหุ่นยนต์ใต้น้ำ อุปกรณ์การแพทย์แบบฝังในร่างกาย และการใช้งานด้านสุขภาพในสภาพแวดล้อมชุ่มน้ำอื่นๆ
(แฟ้มภาพซินหัว : สมาชิกทีมสำรวจทางวิทยาศาสตร์โชว์ปลาดาวที่เก็บได้หลังจากเก็บตัวอย่างบนเรือเสวี่ยหลง 2 เรือตัดน้ำแข็งขั้วโลก ระหว่างการสำรวจในมหาสมุทรอาร์กติกครั้งที่ 13 วันที่ 4 ส.ค. 2023)