ฉางซา, 16 พ.ค. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (16 พ.ค.) พิพิธภัณฑ์หูหนานในเมืองฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน เปิดเผยว่าคณะผู้เชี่ยวชาญของจีนค้นพบเป็นครั้งแรกว่ามีการเขียนภาพทับหลายครั้งบนภาพวาดบนผ้าไหมที่มีรูปทรงตัวที (T) จากหลุมศพของท่านผู้หญิงซินจุย มัมมี่สุภาพสตรีชนชั้นสูงอายุ 2,200 ปี
พิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการวิเคราะห์แบบอิงวัสดุภาพวาดบนผ้าไหมโดยใช้เทคนิคอย่างสเปกโทรสโคปี (spectroscopy) และการวัดลักษณะพื้นผิว โดยการวิจัยครั้งนี้ใช้เทคนิคการถ่ายภาพต่อเนื่องหลายรูปแบบ เช่น การถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัม-ไฮเปอร์สเปกตรัม (multispectral-hyperspectral imaging) และวิธีเอกซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์ สเปกโทรสโคปี (X-ray fluorescence spectroscopy) ขนาดใหญ่
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเทคโนโลยีขั้นสูงข้างต้นสามารถกู้คืนข้อความและรูปภาพได้โดยที่มนุษย์ไม่ต้องสัมผัสกับโบราณวัตถุโดยตรง ซึ่งเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษาเอกสารโบราณ
การศึกษาครั้งนี้ได้ตรวจสอบองค์ประกอบของวัสดุและหมึก รวมถึงวิเคราะห์เม็ดสี การสร้างภาพด้วยหมึก และการกระจายตัวของหมึก จนสามารถระบุร่องรอยของการวาดภาพทับและยังดำเนินการรวบรวมข้อมูลภาพของผลงานศิลปะชิ้นนี้ได้สำเร็จ
ภาพวาดผ้าไหมรูปทรงตัว T ชิ้นดังกล่าวถูกขุดพบจากสุสานโบราณอันเลื่องชื่อของจีนอย่าง "สุสานหม่าหวังตุย" (Mawangdui) อันเป็นสถานที่ฝังศพของท่านผู้หญิงซินจุย ภริยาของอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐฉางซาในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ปี 8)
ภาพวาดบนผ้าไหมถูกรังสรรค์ด้วยพู่กันและผงสีอันเข้มข้น แบ่งจากบนลงล่างออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สวรรค์ โลกมนุษย์ และอเวจี ส่วนบนสุด ซึ่งเป็นส่วนที่กว้างที่สุดของผ้าไหมรูปทรงตัว T เป็นรูปสรวงสวรรค์ มีจู๋หลง รูปร่างคล้ายมนุษย์มีหางเป็นงูอยู่ตรงกลาง ทางด้านซ้ายมีพระจันทร์เสี้ยวแขวนห้อยอยู่ และมีคางคกและอวี้ทู่ (กระต่ายหยก) อยู่ขนาบข้าง ขณะที่ใต้พระจันทร์มีเทพธิดาประคองพระจันทร์ไว้
อวี้เยี่ยนเจียว นักวิจัยของพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่าร่องรอยการเขียนภาพทับที่เพิ่งค้นพบใหม่ ได้แก่ แผ่นหยกกุย ซึ่งเดิมถูกถือโดยผู้พิทักษ์ประตูสวรรค์ในส่วนที่เป็นภาพวาดสวรรค์ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงภาพร่างเท่านั้น และพบร่องรอยการปรับตำแหน่งเสือดาวที่อยู่ข้างผู้พิทักษ์ประตูสวรรค์ และในส่วนของโลกมนุษย์มีรูปบุคคลจำนวนมากกำลังทำพิธีกรรมอยู่ใต้แผ่นหยก
อวี้อธิบายว่าภาพวาดผ้าไหมรูปทรงตัว T ถูกสร้างขึ้นโดยใช้พู่กัน มีการวาดโครงร่างก่อนลงสีและลงรายละเอียดอื่นๆ โดยการเขียนภาพทับอาจเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนตามปกติระหว่างกระบวนการสร้างสรรค์ของศิลปิน
อย่างไรก็ดี แม้มีภาพร่างอยู่บนผ้าไหม แต่แผ่นหยกที่ไม่ได้ถูกลงสีนั้นบ่งชี้ได้ถึงความเป็นไปได้อีกประการหนึ่งว่าภาพวาดดังกล่าวอาจถูกตระเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนท่านผู้หญิงซินจุยจะสิ้นใจ และช่วงเวลานั้นการประกอบพิธีกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลกระทบต่อภาพวาดดังกล่าว
อวี้กล่าวว่าในภาพวาด ผู้พิทักษ์ประตูถูกวาดให้เฝ้าประตูสวรรค์และทำหน้าที่รับวิญญาณของท่านผู้หญิงซินจุยขณะเดินทางสู่สรวงสวรรค์ และการถือแผ่นหยกเคยเป็นท่าทางประกอบพิธีกรรมที่เป็นทางการอย่างมาก มักพบเห็นได้ทั่วไปในช่วงยุคชุนชิวหรือยุควสันตสารทและยุคจ้านกั๋วหรือยุครณรัฐ (770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) อย่างไรก็ดี พิธีกรรมดังกล่าวอาจวิวัฒนาการในยุคราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช- ปี 220) และอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้แผ่นหยกประกอบพิธีกรรมอีกต่อไป
ทั้งนี้ การถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัม-ไฮเปอร์สเปกตรัม รวมถึงวิธีเอกซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์ สเปกโทรสโคปีเคยนำไปใช้งานด้านการสำรวจระยะไกล ดาราศาสตร์ การเกษตร และนิติเวชศาสตร์เป็นหลัก แต่ตั้งแต่ปี 2022 พิพิธภัณฑ์ฯ ได้เริ่มใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อศึกษาผ้าไหม ต้นฉบับเขียนมือ และภาพวาด
(ภาพจากพิพิธภัณฑ์หูหนาน : ภาพวาดบนผ้าไหมรูปทรงตัวที (T) ที่ขุดพบจากสุสานหม่าหวังตุยหมายเลข 1 ในเมืองฉางซา มณฑลหูหนานทางตอนกลางของจีน)