ซิดนีย์, 13 พ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (12 พ.ค.) คณะนักวิจัยของจีนและออสเตรเลียเปิดเผยว่าลูกแก้ว (glass beads) สีเขียวขนาดเล็กที่เก็บรวบรวมโดยภารกิจสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-5 (Chang'e-5) ของจีน กำลังเผยข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยมีมาก่อนแก่เหล่านักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโครงสร้างด้านในที่ซ่อนเร้นอยู่ของดวงจันทร์
รายงานจากมหาวิทยาลัยเคอร์ตินของออสเตรเลียระบุว่า ชิ้นส่วนลูกแก้วเหล่านี้มีส่วนประกอบของแมกนีเซียมสูงผิดปกติ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าอาจมีต้นกำเนิดที่ลึกยิ่งกว่านั้นอยู่ด้านในดวงจันทร์ ต่างจากวัตถุโปร่งแสงบนดวงจันทร์ (lunar glass) ทั่วไปที่เกิดจากแรงกระแทกบนพื้นผิว
อเล็กซานเดอร์ เนมชิน จากคณะธรณีศาสตร์และดาวเคราะห์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่าลูกแก้วที่มีแมกนีเซียมสูงเหล่านี้อาจก่อตัวขึ้นเมื่อครั้งดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนหินซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากชั้นแมนเทิลหรือชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์ภายในดวงจันทร์
เนมชิน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนการศึกษาร่วมที่เผยแพร่ในวารสารไซแอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) กล่าวว่านี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะไม่เคยมีการตรวจตัวอย่างจากชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์โดยตรงมาก่อน และลูกแก้วเล็กจิ๋วเหล่านี้ทำให้เห็นส่วนภายในที่ซุกซ่อนอยู่ของดวงจันทร์
ด้านทิม จอห์นสัน ผู้เขียนร่วมและเพื่อนร่วมงานของเนมชิน เผยว่าองค์ประกอบของลูกแก้วเหล่านี้แตกต่างจากวัสดุบนดวงจันทร์ที่เคยศึกษากันมาก่อนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งบ่งชี้ว่าลูกแก้วดังกล่าวอาจปรากฏขึ้นมาบนพื้นผิวระหว่างการก่อตัวของแอ่งอิมเบรียม (Imbrium Basin) ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 3 พันล้านปี
จอห์นสันเสริมว่าการสำรวจระยะไกลเผยว่าพื้นที่รอบขอบแอ่งดังกล่าวมีแร่ธาตุตรงกับเคมีของลูกแก้ว และหากตัวอย่างเหล่านี้มาจากชั้นเนื้อดาวของดวงจันทร์จริง มันจะช่วยยืนยันได้ว่าการพุ่งชนครั้งใหญ่สามารถนำพาเอาสสารที่อยู่ลึกซึ่งเข้าถึงไม่ได้มาก่อนขึ้นมาสู่พื้นผิวดวงจันทร์ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการทางธรณีวิทยาของดวงจันทร์
หวังเสี้ยวเหล่ย ผู้เขียนหลักจากมหาวิทยาลัยหนานจิงของจีน กล่าวว่าการค้นพบครั้งนี้อาจช่วยกำหนดขอบเขตภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตได้ โดยการเปิดเผยโครงสร้างภายในของดวงจันทร์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเปรียบเทียบดวงจันทร์กับโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ และเอื้อต่อการวางแผนการสำรวจด้วยหุ่นยนต์หรือมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : ตัวอย่างดวงจันทร์จากภารกิจฉางเอ๋อ-5 ของจีนระหว่างงานมหกรรมไซ พาวเวอร์ ฟอร์ ฟิวเจอร์ ไทยแลนด์ (Sci Power for Future Thailand Fair) ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 ก.ค. 2024)