กว่างโจว, 12 พ.ค. (ซินหัว) -- สมุดปกขาว "สุขภาพและการควบคุมน้ำหนักของผู้ใหญ่ชาวจีน" จากการประชุมการป้องกันโรคอ้วนในเมืองโฝซาน มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เมื่อวันเสาร์ (10 พ.ค.) ระบุว่าความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการควบคุมน้ำหนักเพิ่มขึ้น โดยร้อยละ 70 หวังจะลดน้ำหนักได้ และมากกว่าร้อยละ 60 ยินดีจะลงแรงและเวลาเพื่อการนี้
รายงานระบุว่าผู้ใหญ่ชาวจีนครึ่งหนึ่งประเมินตนเองไม่ตรงกับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) หรือการคำนวณส่วนสูงและน้ำหนักตัวที่แท้จริง ขณะร้อยละ 14 ของผู้ประเมินตนเองว่าสุขภาพดีนั้นมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หากวัดจากดัชนีมวลกาย
เหลียงเสี่ยวเฟิง รองประธานสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันของจีน ซึ่งเขียนสมุดปกขาวฉบับนี้ กล่าวว่าการประเมินที่ไม่แม่นยำดังกล่าวทำให้การป้องกันและควบคุมโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ ยากขึ้น บ่งชี้ว่ายังมีความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงจากโรคอ้วนต่อสุขภาพไม่เพียงพอ
ข้อมูลจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุว่าปัจจุบันผู้ใหญ่ชาวจีนร้อยละ 34.3 มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ และร้อยละ 16.4 เป็นโรคอ้วน พร้อมเตือนว่าผู้ใหญ่ชาวจีนร้อยละ 70.5 จะมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือเป็นโรคอ้วนภายในปี 2030 หากไม่ควบคุมความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์พุ่งสูงถึง 6.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 ล้านล้านบาท)
ทางการจีนได้ดำเนินโครงการรณรงค์ทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2024 เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการควบคุมน้ำหนักภายในระยะเวลา 3 ปี เช่น กระตุ้นโรงพยาบาลหลายแห่งจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคอ้วนเพื่อให้บริการควบคุมน้ำหนักสำหรับผู้ป่วยใน และคาดว่าบริการดังกล่าวจะครอบคลุมเกือบทั่วประเทศภายในเดือนมิถุนายน 2025
รายงานเสริมว่าประชากรจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งกำลังดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อควบคุมน้ำหนัก โดยให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีน้ำมัน เกลือ และน้ำตาลน้อยลง พร้อมเลือกรับประทานอาหารทดแทนที่เหมาะสม
ทั้งนี้ สมุดปกขาวเรียกร้องการสนับสนุนทางสังคมที่จริงจัง ครอบคลุม และต่อเนื่องมากขึ้น โดยสร้างระบบองค์ความรู้ด้านการควบคุมน้ำหนัก และปรับใช้มาตรการทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมุ่งเน้นความจำเป็นที่แท้จริงของสาธารณชน
(แฟ้มภาพซินหัว : คลินิกผู้ป่วยนอกด้านการควบคุมน้ำหนักที่โรงพยาบาลเด็กในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน วันที่ 3 เม.ย. 2025)