จาการ์ตา, 9 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ลูฮุต บินซาร์ ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนของอินโดนีเซีย ร่วมพิธีเปิดตัวโรงงานผลิตวัสดุแคโทด (cathode) ระยะแรก โดยเฉพาะลิเธียมไออนฟอสเฟต (LFP) ซึ่งเป็นอีกวัสดุหลักสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม นอกเหนือไปจากนิกเกิล ที่นิคมอุตสาหกรรมเคนดัลในจังหวัดชวากลาง
โรงงานดังกล่าวดำเนินการโดยพีที แอลบีเอ็ม เอเนอร์ไจ บารู อินโดนีเซีย (PT LBM Energi Baru Indonesia) กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานการลงทุนแห่งอินโดนีเซีย และซัพพลายเออร์ชั้นนำของจีนอย่างบริษัทฉางโจว หลี่หยวน จำกัด (Changzhou Liyuan)
"การลงทุนครั้งนี้มุ่งเป้าตอบสนองความต้องการลิเธียมไออนฟอสเฟตระดับโลก ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนจากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโต" ลูฮุตกล่าว
โรงงานข้างต้นเป็นโรงงานผลิตวัสดุแคโทดแห่งแรกนอกประเทศจีน โดยมีแผนการลงทุนร่วมกันสูงถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.67 พันล้านบาท)
อนึ่ง อินโดนีเซียคาดว่าจะส่งเสริมตลาดวัสดุหลักที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ที่จะมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.33 แสนล้านบาท) ภายในปี 2030 ซึ่งช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนระดับโลก
โรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตขั้นต้น 30 กิโลตัน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 120 กิโลตันต่อปี โดยจะช่วยสร้างงานกว่า 2,000 อัตรา ซึ่งร้อยละ 92 จะเป็นแรงงานท้องถิ่น
(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย วันที่ 5 ก.พ. 2024)