ซิดนีย์, 7 พ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (5 พ.ค.) สื่อท้องถิ่นออสเตรเลียรายงานว่าเครื่องมือวัดค่าทางพันธุกรรมแบบใหม่ที่ออสเตรเลียพัฒนาขึ้นเองกำลังช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวนมในการเพาะพันธุ์วัวที่ทนอากาศร้อนได้ดีขึ้น ท่ามกลางความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาความเครียดจากอากาศร้อนในปศุสัตว์ ซึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รายงานระบุว่าค่าพันธุกรรมความทนร้อนของออสเตรเลีย (Heat Tolerance Australian Breeding Value) ซึ่งพัฒนาโดยทุย เหงียน นักวิทยาศาสตร์จากเมลเบิร์น เป็นดัชนีทางพันธุกรรมที่มุ่งหาวัวที่ทนความเครียดจากอากาศร้อนได้ดีขึ้น โดยใช้ตัวอย่างดีเอ็นเออย่างง่าย อาทิ เส้นขน เพื่อให้คะแนนความสามารถทนอากาศร้อน (เต็ม 100 คะแนน)
เทรเวอร์ แพร์ริช เกษตรกรวัวนมในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้งานเทคโนโลยีนี้รายแรกๆ บอกว่าปัจจุบันวัวในฟาร์มของเขาราวร้อยละ 20 มีความสามารถทางพันธุกรรมในการทนอากาศร้อนได้ดีขึ้น
ด้านสเตฟานี บูลเลน หัวหน้าฝ่ายสุขภาพและสวัสดิภาพสัตว์ของเดรี่ ออสเตรเลีย (Dairy Australia) หน่วยงานระดับชาติของอุตสาหกรรมวัวนม ระบุว่าความเครียดจากอากาศร้อนลดผลผลิตน้ำนมมากถึงร้อยละ 40 เพราะวัวที่ตัวร้อนจัดมักกินอาหารน้อยลงหรือหยุดกินเลย ดังนั้นเรื่องนี้จึงเกี่ยวข้องกับการรักษาสวัสดิภาพของวัวไม่น้อยไปกว่าการรักษาผลผลิต
(ภาพจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ : ภาพจากการทดลองในหัวข้อ การให้อาหารเสริมวัวด้วยสาหร่ายสีแดง (Asparagopsis) ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนน้อยลงหรือไม่ ในประเทศออสเตรเลีย วันที่ 21 ส.ค. 2020)