ซิดนีย์, 1 เม.ย. (ซินหัว) -- วันอังคาร (1 เม.ย.) มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ของออสเตรเลียเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกอาจหดตัวถึงร้อยละ 40 ภายในปี 2100 หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างมากจากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่อยู่ที่เพียงร้อยละ 11
ผลการศึกษาจากสถาบันความเสี่ยงและการรับมือสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยฯ ได้ท้าทายโมเดลเศรษฐกิจที่มีมานานและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสภาพภูมิอากาศทั่วโลก พร้อมกระตุ้นการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและเร่งด่วนยิ่งขึ้น
ทิโมธี นีล นักวิจัยหลัก กล่าวว่าหลายโมเดลเศรษฐกิจก่อนหน้านี้ไม่ได้พิจารณาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว โดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์มักประเมินความเสียหายทางสภาพภูมิอากาศด้วยการเปรียบเทียบเหตุการณ์สภาพอากาศในอดีตกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งมองข้ามความเชื่อมโยงระดับโลกของกลุ่มเศรษฐกิจสมัยใหม่
นีลกล่าวว่าพอไม่มีการพิจารณาความเสียหายทางสภาพภูมิอากาศเหล่านี้ หลายโมเดลเศรษฐกิจก่อนหน้านี้จึงเผลอสรุปว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขั้นรุนแรงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ต่อเศรษฐกิจ พร้อมเสริมว่าการหยุดชะงักในภูมิภาคหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ รวมถึงประเทศหนาวเย็นอย่างแคนาดาและรัสเซีย
การปรับตัวเลขคาดการณ์นี้สนับสนุนการจำกัดอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.7 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับเป้าหมายลดปล่อยคาร์บอนเร็วขึ้น เช่น ความตกลงปารีส (Paris Agreement) และต่ำกว่าเกณฑ์ 2.7 องศาเซลเซียส ที่เคยเป็นที่ยอมรับกันก่อนหน้านี้ โดยโมเดลเศรษฐกิจต้องปรับตามผลกระทบจริงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นจนถึงต้นทุนประกันที่พุ่งสูง
(แฟ้มภาพซินหัว : คนเลือกซื้อผักผลไม้ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลีย วันที่ 27 ก.ค. 2022)