หลานโจว, 19 มี.ค. (ซินหัว) -- ทีมนักวิจัยค้นพบพื้นฐานทางพันธุกรรมของกลไกการพรางตัวในพืชอัลไพน์หรือพืชที่เติบโตในเขตที่สูงอย่างโครีดาลิส เฮมิดิเซนทรา (Corydalis hemidicentra) ซึ่งเป็นพืชที่โตบนเนินเขาหินของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต รวมถึงวิวัฒนาการร่วมในระยะยาวของพืชชนิดนี้กับแมลงกินพืช
พืชชนิดดังกล่าวมีลักษณะอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่มีใบสีเขียวทั่วไป และแบบที่มีใบสีเทาคล้ายก้อนหินซึ่งสามารถกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมโดยรอบได้อย่างแนบเนียน โดยทีมวิจัยพบว่าพืชใบสีเทามีระดับแอนโทไซยานิน (anthocyanins) สูงกว่าพืชใบสีเขียว ซึ่งแอนโทไซยานินเป็นรงควัตถุที่ทำให้เกิดเฉดสีแดง ม่วง หรือเทาคล้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพรางตัว
หลิวเจี้ยนเฉวียน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยหลานโจว ระบุว่าการทดลองภาคสนามนานถึงทศวรรษเผยว่าการพรางตัวทางธรรมชาตินี้ช่วยให้พืชหลีกเลี่ยงการถูกหนอนผีเสื้อพาร์นาสซัส (Parnassius) กัดกินได้
การวิเคราะห์ประชากรในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา พบว่าพืชที่สามารถพรางตัวได้มีจำนวนประชากรที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากกว่าพืชที่มีเพียงใบสีเขียว ขณะที่ประชากรผีเสื้อดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงในพื้นที่ที่มีพืชพรางตัวเป็นส่วนใหญ่
การศึกษานี้เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ อีโคโลจี แอนด์ อีโวลูชัน (Nature Ecology & Evolution) เมื่อไม่นานมานี้ โดยช่วยเพิ่มพูนความเข้าใจกลไกทางพันธุกรรมที่อยู่เบื้องหลังการพรางตัวของพืช รวมถึงบทบาทของมันที่อาจเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพืชและสัตว์กินพืช
(ภาพจากทีมวิจัย : ภาพเปรียบเทียบระหว่างพืชที่มีใบสีปกติ (บน) และพืชพรางตัวที่มีใบสีเดียวกับหินบริเวณโดยรอบ)