เซี่ยงไฮ้, 8 มี.ค. (ซินหัว) -- กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของจีนเปิดเผยกลไกการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ซึ่งเป็นร่องลึกก้นสมุทรที่ลึกที่สุดในโลก ในงานวิจัยสามฉบับที่เผยแพร่บนวารสารเซลล์ (Cell) เมื่อวันศุกร์ (7 มี.ค.) ที่ผ่านมา โดยการศึกษาดังกล่าวใช้ตัวอย่างที่รวบรวมได้จาก "เฟิ่นโต้วเจ่อ" (Striver) เรือดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมของจีน ทำให้นักวิจัยค้นพบกลยุทธ์ในการปรับตัวใหม่ๆ และศักยภาพทรัพยากรของจุลินทรีย์ สัตว์จำพวกครัสเตเชียน (crustaceans) และปลา ในสภาพแวดล้อมสุดขั้ว
ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนามีความลึกเกือบ 11,000 เมตร เป็นเหวลึกมืดมิดและเยือกเย็นอยู่ตลอดเวลา และมีความกดอากาศ 1,100 บรรยากาศ ครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็น "เขตไร้ชีวิต" โดยเรือดำน้ำเฟิ่นโต้วเจ่อดำดิ่งลงถึงร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาและค้นพบระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2020
นักวิจัยได้ระบุจีโนมที่เป็นตัวอย่างของจุลินทรีย์โปรคารีโอต (prokaryotic) มากกว่า 7,500 จีโนม ในระดับสปีชีส์ และเกือบร้อยละ 90 เป็นจีโนมที่ยังไม่มีรายงานการค้นพบมาก่อน และมีความหลากหลายทางชีวภาพเทียบเท่ากับความหลากหลายของจุลินทรีย์ในมหาสมุทรทั่วโลกที่เคยมีการค้นพบทั้งหมด
นักวิจัยยังพบว่าจีโนมของสัตว์จำพวกแอมฟิพอด (amphipod) หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลักษณะคล้ายกุ้ง มีขนาดจีโนมใหญ่กว่าจีโนมของมนุษย์ถึง 4 เท่า การศึกษายังพบว่าจีโนมของปลาน้ำลึก 11 สายพันธุ์จากร่องลึกก้นมหาสมุทรมาเรียนามีการสะสมของกรดไขมันชนิดหนึ่งซึ่งช่วยให้ปลาน้ำลึกเหล่านั้นรับมือกับสภาพแวดล้อมที่มีความกดอากาศสูงได้
ผลการศึกษาครั้งนี้ได้เพิ่มความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อระบบนิเวศทางทะเล ไปจนถึงที่ระดับความลึก 10,000 เมตร นอกจากนี้ ยีน โครงสร้าง และหน้าที่ทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งค้นพบใหม่นั้น อาจให้แนวทางใหม่ๆ ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทรัพยากรชีวภาพระดับโลกได้
(แฟ้มภาพซินหัว : เฟิ่นโต้วเจ่อ เรือดำน้ำลึกแบบมีมนุษย์ควบคุมของจีน)