หนานจิง, 28 ก.พ. (ซินหัว) -- กานฮุยหยวน นักวิจัยจากสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมขุดค้นแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่งในมณฑลเจียงซู เปิดเผยการค้นพบชุดเครื่องมือไม้เจาะก่อไฟ อายุราว 7,000 ปี ซึ่งนับเป็นหลักฐานทางกายภาพเกี่ยวกับเทคโนโลยีการก่อไฟที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีน
ชุดเครื่องมือไม้เจาะก่อไฟนี้ประกอบด้วยแท่งไม้เจาะ ความยาวกว่า 60 เซนติเมตร และแท่นรองก่อไฟ ความยาวกว่า 30 เซนติเมตร ซึ่งตัวแท่นรองก่อไฟมีสีน้ำตาลและปรากฏรอยวงกลมสีดำลึกบนพื้นผิวมากกว่า 10 จุด ซึ่งเป็นร่องรอยการไหม้ของไฟที่ชัดเจน
กานกล่าวว่าชุดเครื่องมือนี้ไม่เพียงเป็นชิ้นที่ยาวที่สุดที่ขุดพบจากแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่ง แต่ยังเป็นอุปกรณ์ไม้เจาะก่อไฟสภาพดีที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ นอกจากนั้นร่องวงกลมที่ปลายด้านหนึ่งของแท่นรองก่อไฟมีลักษณะเหมือนไว้ผูกเชือกเพื่อง่ายต่อการพกพาหรือแขวนเก็บ
อนึ่ง แหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 80,000 ตารางเมตร ก่อนหน้านี้มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมายกว่า 3,000 ชิ้น ทั้งเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือกระดูก วัตถุไม้ ซากสัตว์อย่างกวาง หมู วัว สุนัข นก และซากพืชน้ำ ซึ่งการค้นพบเหล่านี้สะท้อนภาพวิถีชีวิตประจำวันและสุนทรียภาพของคนยุคโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้
(ภาพจากคณะนักโบราณคดีประจำแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่ง : ชุดเครื่องมือไม้เจาะก่อไฟที่พบในแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่ง มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน)
(ภาพจากคณะนักโบราณคดีประจำแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่ง : ชุดเครื่องมือไม้เจาะก่อไฟที่พบในแหล่งโบราณคดีเฉ่าเยี่ยนกั่ง มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน)