ปักกิ่ง, 26 ก.พ. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-19 (Shenzhou-19) ของจีน ซึ่งประจำการอยู่บนสถานีอวกาศเทียนกง ได้ดำเนินการทดสอบหุ่นยนต์ตรวจสอบท่อในวงโคจรเสร็จสิ้น ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานทางเทคนิคสำหรับการตรวจสอบท่อบนสถานีอวกาศในอนาคต
องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีนระบุว่าทีมนักบินอวกาศได้สร้างท่อจำลองในวงโคจร ซึ่งประกอบด้วยท่อตรง ท่อโค้ง และท่อรูปกรวยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดต่างๆ โดยพวกเขาใช้ท่อจำลองเหล่านี้ในการทดสอบการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ การดึงหุ่นยนต์จากสภาพคับแคบ และการดึงหุ่นยนต์หลังจากปรับสภาพให้เหมาะสม
หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ผ่านท่อประเภทต่างๆ อย่างมั่นคงและเชื่อถือได้ ซึ่งถือเป็นการพิสูจน์เทคโนโลยีการเคลื่อนที่อัตโนมัติที่ถูกออกแบบให้เหมาะสมกับโครงสร้างท่อที่ซับซ้อนแบบต่างๆ ขณะเดียวกันหุ่นยนต์ถูกดึงออกจากท่อที่ซับซ้อนอย่างง่ายดายหลังจากเกิดไฟฟ้าดับ ซึ่งถือเป็นการยืนยันความปลอดภัยของกลไกการปรับตัวแบบเชิงรับ
การทดสอบหุ่นยนต์เฉพาะทางในวงโคจรบนสถานีอวกาศของจีนครั้งแรกนี้สะท้อนความสามารถปรับตัวอัตโนมัติและความปลอดภัยของหุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนของท่อ ถือเป็นการสั่งสมประสบการณ์ล้ำค่าสำหรับการประยุกต์ใช้งานหุ่นยนต์ในท่อบนสถานีอวกาศในอนาคต
องค์การฯ ระบุว่าหุ่นยนต์ตรวจสอบท่อเผชิญความท้าทายมากมายภายในท่อ เช่น ต้องปรับตัวให้เข้ากับโครงสร้างที่ซับซ้อนภายในท่อของสถานีอวกาศและต้องเคลื่อนที่อัตโนมัติได้ รวมถึงต้องรับรองความปลอดภัยของตัวเอง ทั้งรักษาแรงสัมผัสที่เหมาะสมกับผนังท่อ ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อ และหลีกเลี่ยงการติดอยู่ในท่ออย่างไม่คาดคิด
คณะนักวิจัยได้พัฒนาการออกแบบความแข็งผันแปรเลียนแบบสิ่งมีชีวิตสำหรับหุ่นยนต์ตรวจสอบท่อเพื่อเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ โดยมีแรงบันดาลใจจาก "เท้าท่อ" ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอย่างดาวทะเล เม่นทะเล และปลิงทะเล ซึ่งหดกลับเข้าไปในร่างกายเมื่ออยู่นิ่งและยืดออกเมื่อเคลื่อนที่ นำสู่การออกแบบกลไกขาเชิงรุกและเชิงรับของหุ่นยนต์
กลไกเชิงรับช่วยให้ขาของหุ่นยนต์ปรับความยาวอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเส้นผ่านศูนย์กลางของท่อ ส่วนกลไกเชิงรุกจะปรับแรงกดระหว่างเท้าของหุ่นยนต์กับผนังท่อ เพื่อรับรองการสัมผัสที่มั่นคงและสร้างแรงขับเคลื่อนเพียงพอสำหรับการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ขณะ "สมอง" อัจฉริยะของหุ่นยนต์จะคำนวณท่าทางและตำแหน่งโดยใช้เซ็นเซอร์ทั่วร่างกายและวางกลยุทธ์การเคลื่อนที่ โดยหุ่นยนต์จะปรับตำแหน่ง ความเร็ว และแรงที่ใช้กับข้อต่อต่างๆ เพื่อสามารถเคลื่อนที่อย่างราบรื่นภายในท่อของสถานีอวกาศภายใต้หลักการรักษาความปลอดภัยของท่อ
การทดสอบหุ่นยนต์ตรวจสอบท่อในวงโคจรครั้งนี้ยังมีทีมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเฝ้าติดตามตำแหน่ง แรงสัมผัส และข้อมูลสถานะอื่นๆ แบบเรียลไทม์ผ่านซอฟต์แวร์สนับสนุนบนภาคพื้นดิน เพื่อสังเกตการณ์การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ในเวลาเดียวกัน ช่วยให้ทีมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินสามารถช่วยเหลือนักบินอวกาศในการปฏิบัติงานในวงโคจร
นอกจากนั้นทีมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินยังประเมินผลการทดสอบจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการทดลองต่อไปในอนาคต