เหอเฝย, 21 ม.ค. (ซินหัว) -- โครงการเตาปฏิกรณ์โทคาแมกแบบตัวนำยิ่งยวดขั้นสูงเพื่อการทดลอง (EAST) หรือ "ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์" ของจีนยังคงสามารถรักษาสถานะคงตัวในการปฏิบัติการกักพลาสมาระดับสูงเป็นระยะเวลา 1,066 วินาที เมื่อวันจันทร์ (20 ม.ค.) ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของโลกและความก้าวหน้าของความพยายามผลิตพลังงานฟิวชัน
รายงานระบุว่าระยะเวลา 1,000 วินาที ถือเป็นก้าวสำคัญในการวิจัยฟิวชันของสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน โดยความก้าวหน้านี้ได้ทำลายสถิติโลกเดิมในปี 2023 ซึ่งดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีนสามารถปฏิบัติการกักพลาสมาระดับสูงเป็นระยะเวลา 403 วินาที
อนึ่ง เป้าหมายสูงสุดของดวงอาทิตย์ประดิษฐ์คือสร้างปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันเหมือนดวงอาทิตย์ ทำให้มนุษย์มีแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดและได้ออกสำรวจอวกาศนอกระบบสุริยะ
คณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้มุมานะพยายามบรรลุเป้าหมายนี้ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา แต่อุปกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สำเร็จต่อเมื่อรักษาการเดินเครื่องระยะยาวและมีสมรรถนะการควบคุมอันมีประสิทธิภาพหลังจากอุณหภูมิสูงเกิน 100 ล้านองศาเซลเซียสเท่านั้น
ซ่งอวิ๋นเทา ผู้อำนวยการสถาบันฟิสิกส์พลาสมา กล่าวว่าอุปกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันต้องเดินเครื่องอย่างมีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพสูงเป็นเวลาหลายพันวินาที เพื่อช่วยให้พลาสมาหมุนเวียนตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการผลิตพลังงานอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟิวชันในอนาคต
กงเซียนจู่ หัวหน้าฝ่ายฟิสิกส์และปฏิบัติการทดลองดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ กล่าวว่ามีการอัปเกรดระบบหลายครั้งตั้งแต่การทดลองรอบล่าสุด เช่น ระบบทำความร้อนที่ก่อนหน้านี้ทำงานเทียบเท่ากับเตาไมโครเวฟในครัวเกือบ 70,000 เครื่อง ปัจจุบันมีกำลังการทำความร้อนเพิ่มขึ้นสองเท่าโดยที่ยังสามารถรักษาเสถียรภาพและความต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีนเริ่มต้นเดินเครื่องปี 2006 ถือเป็นแพลตฟอร์มทดสอบแบบเปิดสำหรับคณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนและนานาชาติเพื่อดำเนินการทดลองและวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาฟิวชัน
จีนเข้าร่วมโครงการเตาปฏิกรณ์เพื่อการทดลองเทอร์โมนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ITER) ด้วยฐานะสมาชิกลำดับที่ 7 อย่างเป็นทางการในปี 2006 โดยจีนรับผิดชอบการก่อสร้างและการดำเนินงานของโครงการนี้ประมาณร้อยละ 9 และสถาบันฟิสิกส์พลาสมาเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติภารกิจของจีน
เตาปฏิกรณ์เพื่อการทดลองเทอร์โมนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จะเป็นอุปกรณ์ทดลองทางฟิสิกส์สำหรับกักพลาสมาด้วยแม่เหล็กขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเตาปฏิกรณ์โทคาแมกนิวเคลียร์ฟิวชันเพื่อการทดลองขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อก่อสร้างเสร็จสิ้น
ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีนบรรลุความก้าวหน้าสำคัญในการกักพลาสมาระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเตาปฏิกรณ์ฟิวชันเพื่อการทดลอง ทั้งเตาปฏิกรณ์เพื่อการทดลองเทอร์โมนิวเคลียร์ระหว่างประเทศและเตาปฏิกรณ์เพื่อการทดสอบวิศวกรรมฟิวชันแห่งประเทศจีน (CFETR) ในอนาคต ถือเป็นข้อมูลอ้างอิงมีค่าต่อการสร้างเตาปฏิกรณ์ฟิวชันทั่วโลก
ปัจจุบันจีนกำลังก่อสร้างสถานวิจัยฟิวชันเพื่อการทดลองรุ่นใหม่ในเมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ของจีน โดยมีเป้าหมายเร่งรัดการประยุกต์ใช้และการพัฒนาพลังงานฟิวชันเพิ่มเติม