ปักกิ่ง, 6 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อไม่นานนี้ คณะนักวิจัยของจีนเปิดเผยการเปลี่ยนแปลงแบบมีพลวัตที่เกิดขึ้นในระบบภูมิคุ้มกันและการเผาผลาญของมนุษย์ระหว่างปีนเขาสูง ซึ่งถือเป็นการนำเสนอมุมมองใหม่เกี่ยวกับความท้าทายทางสรีรวิทยาที่บรรดานักปีนเขาสูงต้องเผชิญ
วารสารเซลล์ รีพอร์ตส (Cell Reports) เผยแพร่ผลการวิจัยของคณะนักวิจัยจากบีจีไอ รีเสิร์ช (BGI Research) ซึ่งใช้เทคนิคตรวจจับโอมิกส์ (Omics) ของเซลล์ และแมส สเปกโตรเมทรี (Mass Spectrometry) หรือเทคนิควิเคราะห์มวลสาร เพื่อตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของมัลติโอมิกส์ในนักปีนเขาที่กำลังปีนเขาสูง 11 คน
การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับการได้รับโปรไฟล์มัลติโอมิกส์จากตัวอย่างเลือดของนักปีนเขา รวมถึงการวิเคราะห์ทรานสคริปโตมิก (transcriptomic) ของเซลล์เดี่ยวในเซลล์ภูมิคุ้มกัน 375,722 เซลล์ และเมตาโบโลมิกส์ (metabolomics) และลิพิดโดมิกส์ (lipidomics) ในพลาสมา
คณะนักวิจัยใช้ข้อมูลที่ครอบคลุมนี้และสามารถทำแผนที่เซลล์เดี่ยวของเซลล์ภูมิคุ้มกันรอบนอกในนักปีนเขาได้ ซึ่งช่วยให้ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในองค์ประกอบของเซลล์ภูมิคุ้มกันระหว่างปีนเขาสูง
นอกจากนั้นคณะนักวิจัยตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงแบบมีพลวัตในแง่สัดส่วนเซลล์ภูมิคุ้มกัน รวมถึงบทบาทการแสดงออกของยีน วิถีการทำงาน และปัจจัยควบคุมการถอดรหัส ในช่วงปรับตัวขณะปีนเขาสูงและช่วงปีนถึงจุดสูงมากแล้ว
คณะนักวิจัยค้นพบว่าร่างกายมนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมสุดโต่งบนพื้นที่สูงมากผ่านกลไกภูมิคุ้มกันและการเผาผลาญที่ซับซ้อน และเซลล์ภูมิคุ้มกันจะปรับรูปแบบการเผาผลาญในสภาพแวดล้อมบนพื้นที่สูงมาก ซึ่งเพิ่มความสามารถต้านอนุมูลอิสระ โดยการปรับตัวนี้มีนัยสำคัญต่อการรักษาการทำงานพื้นฐานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน
ขณะเดียวกันคณะนักวิจัยบ่งชี้การเพิ่มขึ้นของเมตาบอไลต์ส (metabolites) ในพลาสมา อาทิ กลูตามีน (glutamine) และกรดไขมัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยนักปีนเขารักษาพลังงานบนพื้นที่สูงมาก
(แฟ้มภาพซินหัว : จางหง นักปีนเขาชาวจีน ขณะกำลังปีนภูเขาโลบูเชในเนปาล วันที่ 18 เม.ย. 2021)