โตเกียว, 26 ก.ย. (ซินหัว) -- วันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) ญี่ปุ่นเริ่มต้นปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนนิวเคลียร์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกรอบที่ 9 ปริมาณราว 7,800 ตัน แม้มีกระแสคัดค้านต่อเนื่องจากในประเทศและต่างประเทศ โดยจะดำเนินการปล่อยจนถึงวันที่ 14 ต.ค. นี้
สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งเผชิญแผ่นดินไหว ขนาด 9.0 ตามมาตรแมกนิจูด และสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2011 ประสบปัญหาแกนกลางเตาปฏิกรณ์หลอมละลายจนปล่อยรังสีออกมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES)
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะได้ผลิตน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีปริมาณมากจากการหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในอาคารเตาปฏิกรณ์ โดยปัจจุบันมีการกักเก็บน้ำปนเปื้อนในถังขนาดใหญ่หลายใบที่โรงไฟฟ้าฯ และเริ่มต้นปล่อยน้ำปนเปื้อนนิวเคลียร์ลงมหาสมุทรตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 แม้ชาวประมงและชาวบ้านท้องถิ่น รวมถึงประชาคมระหว่างประเทศคัดค้าน
ทั้งนี้ เทปโก (TEPCO) ผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ วางแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนในปีงบประมาณ 2024 รวม 54,600 ตัน แบบแบ่ง 7 รอบ ซึ่งประกอบด้วยสารทริเทียมราว 14 ล้านล้านเบ็กเคอเรล
เมื่อไม่นานนี้ หน่วยงานผู้มีอำนาจของจีนและญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปล่อยน้ำปนเปื้อนนี้ โดยจีนยืนกรานว่าคัดค้านการดำเนินการปล่อยน้ำปนเปื้อนเพียงฝ่ายเดียวของญี่ปุ่นและจุดยืนนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่าวัตถุประสงค์ของการบรรลุข้อตกลงกับญี่ปุ่นคือกระตุ้นญี่ปุ่นปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและความรับผิดชอบในการกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการปล่อยน้ำปนเปื้อนอย่างมีประสิทธิภาพ
(แฟ้มภาพซินหัว : กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมการชุมนุมในกรุงโซลของเกาหลีใต้ เนื่องในวาระครบรอบ 13 ปี เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่นำสู่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะในญี่ปุ่น วันที่ 11 มี.ค. 2024)