เซินเจิ้น, 16 ธ.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิจัยของจีนจากสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งเซินเจิ้น สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ได้ค้นพบการแพร่กระจายรูปแบบใหม่ของเชื้อไวรัสผ่านเทคนิคชีววิทยาสังเคราะห์
วารสารวิชาการพีเอ็นเอเอส (PNAS) เผยแพร่ผลการศึกษาที่มุ่งทำความเข้าใจรูปแบบการเคลื่อนที่ของแบคทีเรียอีโคไล (E. Coli) และเอ็ม13 (M13) ซึ่งเป็นแบคเทอริโอเฟจ (bacteriophage) ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อได้
หลายการศึกษาก่อนหน้านี้เชื่อว่าการอพยพของสัตว์เร่งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ทว่าการวิจัยใหม่พบสัตว์บางชนิดอย่างผีเสื้อจักรพรรดิมีความเป็นไปได้ลดลงในการติดเชื้อโรคระหว่างการอพยพระยะไกล
ทั้งนี้ คณะนักวิจัยได้ใช้อีโคไลเป็นโฮสต์ (host) หรือเจ้าบ้าน และเอ็ม13 เป็นเชื้อไวรัส และสร้างระบบในห้องทดลองที่ซึ่งโฮสต์และเชื้อไวรัสมีปฏิกิริยาต่อกัน เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบการแพร่กระจาย
หลังจากปรับการเคลื่อนที่ของโฮสต์และลักษณะการติดเชื้อของไวรัสผ่านชีววิทยาสังเคราะห์ และทำการศึกษาโฮสต์และเชื้อไวรัสด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คณะนักวิจัยพบว่ายิ่งประชากรแบคทีเรียเคลื่อนที่ตามทิศทางเร็วเท่าใด แบคทีเรียที่ติดเชื้อจะถูกคัดออกจากกลุ่มที่เคลื่อนที่ง่ายขึ้น ส่งผลให้ประชากรทั้งหมดเป็นแบคทีเรียที่ปลอดเชื้อ
ฟู่สยงเฟย นักวิจัยจากสถาบันฯ ซึ่งเป็นผู้เขียนหลักของบทความวิจัย เผยว่างานวิจัยนี้มอบข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อ
(แฟ้มภาพซินหัว : นักวิทยาศาสตร์ทำงานที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์เซี่ยงไฮ้ในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน วันที่ 14 พ.ย. 2024)