ปักกิ่ง, 1 ธ.ค. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์ของจีนประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายของลิงแสม (macaque) ในช่วงก่อนหน้านี้ของปี 2024 โดยอวัยวะที่ปลูกถ่ายนั้นสามารถทำงานมาได้นานมากกว่า 6 เดือนแล้ว
รายงานระบุว่าคณะนักวิจัยประจำโรงพยาบาลในเครือวิทยาลัยแพทยศาสตร์ถงจี้ สังกัดมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง นำโดยเฉินก่าง ศาสตราจารย์ประจำโรงพยาบาล ได้ปลูกถ่ายไตหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมข้างหนึ่งเข้าสู่ร่างกายของลิงแสมเพื่อทดแทนไตเดิมเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2024
การปลูกถ่ายไตนี้เป็นไปตามการรับรองจริยธรรมการทดลองในสัตว์ และไตที่ถูกปลูกถ่ายสามารถทำงานเป็นระยะเวลา 184 วันแล้ว โดยใช้ประโยชน์จากการกดภูมิคุ้มกัน ซึ่งการรอดชีวิต 180 วัน ถือเป็นเกณฑ์ชี้วัดการอยู่รอดระยะยาวในสัตว์ทดลองปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน
รายงานเสริมว่าช่วง 5 เดือนแรกหลังจากปลูกถ่าย ไตที่ถูกปลูกถ่ายสามารถทำงานได้ดีและมีค่าทางสรีรวิทยาเป็นปกติ โดยคณะนักวิจัยกำลังวางแผนเพิ่มความพยายามยับยั้งการตอบสนองของภูมิต้านทานเพื่อยืดความอยู่รอดของอวัยวะที่ปลูกถ่าย เพื่อนำสู่การทดลองทางคลินิกในมนุษย์
ทั้งนี้ เฉินกล่าวว่าการอยู่รอดระยะยาวในสัตว์ทดลองเป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการริเริ่มการทดลองทางคลินิกในจีน
เมื่อเดือนมีนาคม 2024 คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ประจำคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายไตหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ชายวัย 62 ปี ทว่าเขาเสียชีวิตในอีกสองเดือนถัดมา
(แฟ้มภาพซินหัว : ทีมแพทย์ดำเนินการปลูกถ่ายไตหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมในผู้ป่วยสมองตายที่โรงพยาบาลในนครซีอัน มณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 25 มี.ค. 2024)