นิวยอร์ก, 28 พ.ย. (ซินหัว) -- พอล ซิมนิสกี นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมเพชร เผยว่าแม้เพชรที่ผลิตในห้องปฏิบัติการจะมีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 แต่กลับได้รับความนิยมในช่วง 5 ปีมานี้ และปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 20 ของตลาดเครื่องประดับเพชรทั่วโลกตามมูลค่าการจำหน่าย
ข้อมูลจากเทโนริส (Tenoris) บริษัทวิเคราะห์เครื่องประดับ ระบุว่าโดยทั่วไปเพชรประเภทนี้มีราคาถูกกว่าเพชรธรรมชาติอย่างมาก จึงดึงดูดเหล่าผู้บริโภค และยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแทนเพชรจากการขุดเหมืองซึ่งอยู่ภายใต้การตรวจสอบทางจริยธรรม
แอนนา-มีเก แอนเดอร์สัน ผู้ก่อตั้งมีอาดอนนา (MiaDonna) บริษัทผลิตเพชรในห้องปฏิบัติการ กล่าวว่าความสนใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคได้สร้าง "การแข่งขันที่สูงขึ้น" ในอุตสาหกรรมเพชรที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ อัญมณีเหล่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเพชรธรรมชาติอย่างมาก จนคณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐฯ ต้องปรับแก้คู่มือเครื่องประดับในปี 2018 โดยตัดคำว่า "ธรรมชาติ" ออกจากคำนิยามของเพชร และต้องใช้เครื่องมือพิเศษจึงจะสามารถแยกแยะความแตกต่างได้
เพชรเป็นกลุ่มของอะตอมคาร์บอนที่สัมผัสกับแรงดันและอุณหภูมิสูง ทำให้เกิดพันธะและก่อตัวเป็นโครงสร้างผลึก โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นทางธรรมชาติภายใต้พื้นผิวโลก ขณะที่ในห้องปฏิบัติการ เตาปฏิกรณ์จะช่วยจับอะตอมคาร์บอนให้เป็นกลุ่มก้อน
เมื่อมองด้วยตาเปล่า เพชรที่ผลิตในห้องปฏิบัติการจะมีลักษณะคล้ายกับเพชรธรรมชาติ โดยทอม มอสเซส หัวหน้าเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการและการวิจัย ระบุว่าจีไอเอ (GIA) องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการศึกษาและมาตรฐานที่ก่อตั้งในปี 1931 ใช้เกณฑ์เดียวกันในการจัดอันดับเพชรทั้งสองประเภท โดยเพชรธรรมชาติมักมีโครงสร้างการเติบโตที่แตกต่างออกไป และอาจมีไนโตรเจนตกค้างอยู่ภายใน
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้ค้าจัดเรียงเครื่องประดับในงานนิทรรศการเครื่องประดับที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงโดฮา เมืองหลวงของกาตาร์ วันที่ 24 ต.ค. 2024)