ปักกิ่ง, 28 พ.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (27 พ.ย.) ห้องปฏิบัติการสำรวจอวกาศห้วงลึกของจีนเปิดเผยว่าจีนตั้งเป้าหมายเก็บตัวอย่างดาวอังคารและนำกลับสู่โลกประมาณปี 2031 โดยเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญที่สุดคือการค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร
รายงานระบุว่าจีนวางแผนดำเนินภารกิจเทียนเวิ่น-3 ด้วยการส่งยานอวกาศสู่อวกาศ 2 ครั้งราวปี 2028 ซึ่งภารกิจนี้มุ่งลงจอด เก็บตัวอย่าง และนำกลับสู่โลกในปฏิบัติการแบบบูรณาการครั้งเดียว โดยจุดลงจอดยังจะทำหน้าที่เป็นสถานที่เก็บตัวอย่างด้วย
คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำห้องปฏิบัติการฯ รวมถึงโหวเจิงเชียน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ประจำภารกิจ และหลิวจี้จง หัวหน้านักออกแบบประจำภารกิจ ได้เผยยุทธศาสตร์การสำรวจผ่านบทความฉบับย่อในวารสารเนชันแนล ไซเอนซ์ รีวิว (National Science Review) ฉบับเดือนพฤศจิกายน
ยุทธศาสตร์ข้างต้นประกอบด้วยข้อพิจารณาต่างๆ เช่น เก็บตัวอย่างที่ไหน เลือกอะไร เก็บตัวอย่างอย่างไร และใช้ประโยชน์จากวัตถุที่เก็บมาอย่างไร พร้อมเสนอจุดลงจอด 86 จุด ซึ่งกระจุกอยู่ในภูมิภาคไครส์ พลาทิเนีย และภูมิภาคยูโทเปีย พลานิเทีย
ภูมิภาคโบราณทั้งสองบนดาวอังคารมีสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาหลากหลาย เช่น แนวชายฝั่งโบราณ ดินดอนสามเหลี่ยม ทะเลสาบโบราณ และระบบโกรกธาร ซึ่งมีสภาพแวดล้อมอันเกื้อหนุนการจุดกำเนิดและสิ่งมีชีวิตโบราณ
คณะนักวิทยาศาสตร์แสดงความมุ่งมั่นจะศึกษาวิธีระบุ หาสถานที่ และวิธีรักษาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต ใช้ประโยชน์จากเทคนิคเก็บตัวอย่างบนพื้นผิวและใต้พื้นผิว พร้อมเน้นย้ำความจำเป็นในการพัฒนาเครื่องมือใหม่ที่ถูกออกแบบมาตรวจจับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะ
อนึ่ง ภารกิจเทียนเวิ่น-3 จะขนส่งอุปกรณ์บรรทุกที่พัฒนาผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยจีนจะร่วมมือกับคณะนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเพื่อดำเนินการวิจัยตัวอย่างจากดาวอังคารและข้อมูลร่วมกัน และจีนวางแผนสำรวจระบบดาวเคราะห์โจเวียนเพื่อศึกษาประวัติวิวัฒนาการของดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดีระหว่างภารกิจเทียนเวิ่น-4
(ภาพจากองค์การอวกาศแห่งชาติจีน : ยานโคจรของจีน และดาวอังคาร เผยแพร่วันที่ 1 ม.ค. 2022)