หนานหนิง, 17 พ.ย. (ซินหัว) -- การประชุมว่าด้วยความร่วมมือห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งเมื่อวันเสาร์ (16 พ.ย.) ที่ผ่านมา ในเมืองเป่ยไห่ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน รายงานว่าจีนได้สร้างและเชื่อมต่อแหล่งพลังงานลมนอกชายฝั่งเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติของประเทศแล้ว 39.1 ล้านกิโลวัตต์ เมื่อนับถึงช่วงไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน) ของปี 2024 ซึ่งครองตำแหน่งอันดับ 1 ของโลก โดยจีนได้ก่อตั้งห่วงโซ่ทางเทคโนโลยีและทางอุตสาหกรรมด้านพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบ การผลิต การก่อสร้าง การดำเนินการ และการบำรุงรักษา
รายงานระบุว่าคณะผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้หารือถึงประเด็นต่างๆ เช่น นวัตกรรมเชิงกลยุทธ์ เทคโนโลยีพลังงานลมนอกชายฝั่งที่สำคัญ รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งสมัยใหม่
จีนมีทรัพยากรพลังงานลมนอกชายฝั่งอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุตสาหกรรมของภาคส่วนนี้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ติดตั้งแล้วของจีนเติบโตจากต่ำกว่า 5 ล้านกิโลวัตต์ในปี 2018 มาเป็น 37.7 ล้านกิโลวัตต์ในปี 2023 ครองสัดส่วนร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตพลังงานลมทั่วทั้งโลก ปัจจุบันกังหันลมนอกชายฝั่งของจีนมีอัตราการผลิตภายในประเทศทะลุร้อยละ 90
ซูอิ้นเปียว นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีน กล่าวว่าอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งควรสร้างนวัตกรรมด้านโมเดลการบูรณาการทางอุตสาหกรรม เสริมสร้างการวิจัยเทคโนโลยีหลัก และกระชับการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม เพื่อจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ
(แฟ้มภาพซินหัว : คนงานบริษัท ตงฟาง อิเลคทริค วิน พาวเวอร์ จำกัด (Dongfang Electric Wind Power) ดำเนินงานผลิตกังหันลมนอกชายฝั่งขนาด 18 เมกะวัตต์ ณ นิคมอุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งนานาชาติสามผาฝูเจี้ยน ในเมืองฝูชิง มณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 8 ส.ค. 2024)