เยรูซาเล็ม, 28 ต.ค. (ซินหัว) -- ผลการศึกษาของอิสราเอลที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการพีเอ็นเอเอส (PNAS) ระบุว่าแตนตะวันออก (oriental hornets) สามารถกินแอลกอฮอล์ได้ในปริมาณสูงอย่างไม่จำกัด โดยแทบไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหรืออายุขัยของมัน ซึ่งการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การศึกษาโรคพิษสุราเรื้อรังและการเผาผลาญแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ได้
ปกติแล้วแอลกอฮอล์จะผลิตขึ้นผ่านการย่อยสลายน้ำตาลจากยีสต์และแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในผลไม้สุกและน้ำหวานในดอกไม้ และแม้แอลกอฮอล์จะมีพลังงานเกือบสองเท่าของน้ำตาล ทว่ากลับเป็นพิษต่อสัตว์และมนุษย์ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน
ในบรรดาสัตว์ที่พบว่ากินแอลกอฮอล์อย่างแมลงวันผลไม้ พวกมันจะแสดงอาการภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษแม้ในปริมาณเข้มข้นต่ำ หรือแม้แต่กระแต สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกและกินผลไม้สุกที่มีแอลกอฮอล์สูงอาจแสดงอาการบางอย่าง เช่น ไขมันพอกตับ เช่นกัน
ในการศึกษาดังกล่าว ทีมวิจัยระบุแอลกอฮอล์ที่แตนตะวันออกกินด้วยไอโซโทปคาร์บอนหนัก และพบว่าแตนชนิดนี้เผาผลาญแอลกอฮอล์และหายใจออกมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราที่รวดเร็ว อีกทั้งไม่พบการส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมแม้กินแอลกอฮอล์ในปริมาณเข้มข้นสูง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าแตนตะวันออกไม่มึนเมาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์
ขณะเดียวกัน อายุขัยของแตนตะวันออกที่บริโภคแต่แอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียวตลอดช่วงชีวิตสามเดือนยังไม่มีความแตกต่างกับแตนที่บริโภคน้ำตาลด้วย
การวิเคราะห์ชีวสารสนเทศยังเผยว่าแตนดังกล่าวมียีนหลายชุดที่ทำหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยสลายแอลกอฮอล์ ซึ่งการปรับตัวทางพันธุกรรมนี้อาจเกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดการกับแอลกอฮอล์ โดยนักวิจัยได้เสนอแนวคิดว่าการสะสมยีสต์ของแตนในระบบย่อยอาหารที่เอื้อให้ยีสต์เจริญเติบโตและถูกถ่ายโอนไปยังผลไม้ ส่งผลให้เกิดการปรับตัวทางพันธุกรรมรูปแบบนี้
(แฟ้มภาพซินหัว : หญิงเดินท่ามกลางต้นอัลมอนด์ที่ผลิดอกงดงามใกล้เมืองโมดิอินทางตอนกลางของอิสราเอล วันที่ 7 มี.ค. 2022)