ปักกิ่ง, 24 ต.ค. (ซินหัว) -- อุปกรณ์ภารกิจวิทยาศาสตร์ (scientific payload) สำหรับการเพาะพันธุ์ในอวกาศและการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งบรรทุกโดยสือเจี้ยน-19 ดาวเทียมใช้ซ้ำและนำกลับโลกได้ดวงแรกของจีน ถูกนำส่งให้แก่ผู้ใช้งานชาวจีนและชาวต่างชาติแล้วในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.)
องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งประเทศจีน (CASC) ลงนามใบรับรองการส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวกับผู้ใช้งานในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้ใช้งานจากไทยและปากีสถาน ณ พิธีส่งมอบอุปกรณ์ภารกิจวิทยาศาสตร์ที่จัดโดยองค์การฯ ในกรุงปักกิ่งของจีนในวันพฤหัสบดี (24 ต.ค.)
เปี้ยนจื่อกัง รองผู้อำนวยการองค์การฯ กล่าวว่าภารกิจสือเจี้ยน-19 ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแพลตฟอร์มการทดลองในอวกาศที่สามารถกู้คืนได้รุ่นใหม่ โดยดำเนินการทดลองเพาะพันธุ์ทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมราว 1,000 สายพันธุ์ในอวกาศ และให้การสนับสนุนที่สำคัญต่อนวัตกรรมทรัพยากรเชื้อพันธุกรรมในจีน ซึ่งภารกิจนี้ยังมอบโอกาสล้ำค่าในการตรวจสอบองค์ประกอบและวัตถุดิบที่ผลิตในจีนในวงโคจรอีกด้วย
อนึ่ง ดาวเทียมสือเจี้ยน-19 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อวันที่ 27 ก.ย. และถูกนำกลับมายังจุดลงจอดตงเฟิงในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีนได้สำเร็จเมื่อวันที่ 11 ต.ค.
(แฟ้มภาพซินหัว : จีนกู้คืนสือเจี้ยน-19 ดาวเทียมทดสอบที่สามารถใช้ซ้ำและนำกลับโลกได้ดวงแรก ที่จุดลงจอดในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในทางตอนเหนือของจีน ตอน 10.39 น. ตามเวลาปักกิ่ง วันที่ 11 ต.ค. 2024)
(แฟ้มภาพซินหัว : เปี้ยนจื่อกัง รองผู้อำนวยการองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ขึ้นกล่าวในพิธีส่งมอบอุปกรณ์ภารกิจวิทยาศาสตร์ที่จัดในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน วันที่ 24 ต.ค. 2024)