ไทเป, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพฤหัสบดี (17 ต.ค.) สำนักวางแผนการพัฒนาของเกาะไต้หวันทางตอนใต้ของจีนรายงานว่าไต้หวันจะก้าวสู่ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" (super-aged society) ภายในปี 2025 โดยหนึ่งในห้าของผู้อยู่อาศัยจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป
รายงานระบุว่าจำนวนประชากรทั้งหมดของไต้หวันจะลดลงจนต่ำกว่า 23 ล้านคนภายในปี 2030 และสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะสูงเกินร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2039
นอกจากนั้นสัดส่วนประชากรวัยทำงานจะน้อยกว่า 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดภายในปี 2028 ซึ่งส่งสัญญาณการสิ้นสุดการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) ในไต้หวัน
อนึ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า "สังคมสูงวัย" หมายถึงสัดส่วนผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด และ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" หมายถึงสัดส่วนดังกล่าวสูงเกินร้อยละ 20 โดยไต้หวันเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" เมื่อปี 2018
สถิติจากสำนักกิจการภายในของไต้หวันระบุว่าอำเภอและเมือง 7 แห่งจากทั้งหมด 22 แห่งของไต้หวันได้เข้าสู่ "สังคมสูงวัยระดับสุดยอด" เมื่อนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยประชากรสูงวัยนำสู่ปัญหาทางสังคมหลายประการ เช่น การขาดแคลนแรงงาน ยอดสมัครเข้าเรียนลดลง และต้นทุนการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น
สำนักวางแผนการพัฒนาของไต้หวันเสริมว่าไต้หวันควรเพิ่มเงินอุดหนุนด้านการดูแลเด็ก เพิ่มการมีส่วนร่วมด้านกำลังแรงงานในหมู่คนวัยกลางคนและผู้หญิง ดึงดูดผู้มีความรู้ความสามารถ ปรับปรุงการบริการทางการแพทย์ และยกระดับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อปรับเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเหล่านี้
(แฟ้มภาพซินหัว : คนเยี่ยมชมดอกเบญจมาศในเมืองไทเปบนเกาะไต้หวันทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 25 พ.ย. 2019)