(แฟ้มภาพซินหัว : พนักงานธนาคารในกรุงปักกิ่งของจีน แสดงธนบัตรและเหรียญสกุลเงินเหรินหมินปี้หรือสกุลเงินหยวนของจีน วันที่ 30 ส.ค. 2019)
ปักกิ่ง, 5 ต.ค. (ซินหัว) -- ธนาคารประชาชนจีนหรือธนาคารกลางของจีน เปิดเผยว่าสกุลเงินเหรินหมินปี้ (RMB) หรือสกุลเงินหยวนของจีนถูกนำมาใช้ในการค้าข้ามพรมแดนบ่อยมากขึ้นในช่วงแปดเดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ของปี 2024 ขณะที่สกุลเงินหยวนมีบทบาทเพิ่มขึ้นในตลาดโลก
รายงานเกี่ยวกับสกุลเงินเหรินหมินปี้ประจำปี 2024 ของธนาคารฯ ระบุว่าการชำระเงินและการรับเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 21.1 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 41.6 ล้านล้านหยวน (ราว 197 ล้านล้านบาท)
รายงานระบุว่าช่วงแปดเดือนแรก การชำระเงินและการรับเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้สำหรับการค้าสินค้าข้ามพรมแดนครองสัดส่วนร้อยละ 26.5 ของการชำระเงินด้วยสกุลเงินภายในประเทศและสกุลเงินต่างชาติทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.8 ในปี 2023
การใช้เงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้สำหรับการค้าบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านหยวน (ราว 5.68 ล้านล้านบาท) ครองสัดส่วนร้อยละ 31.8 ของยอดทั้งหมด
สกุลเงินเหรินหมินปี้ยังคงทำหน้าที่เป็นสกุลเงินเพื่อการลงทุนและการจัดหาเงินทุนได้ดีขึ้น โดยกลุ่มนักลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรจีนราว 4.6 ล้านล้านหยวน (ราว 21 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ครองสัดส่วนร้อยละ 2.7 ของพันธบัตรในประเทศทั้งหมดที่มีการฝากทรัพย์
ส่วนการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์หลัก ช่วง 8 เดือนดังกล่าว อยู่ที่ 1.5 ล้านล้านหยวน (ราว 7.11 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อเทียบปีต่อปี
ทั้งนี้ ธนาคารฯ เผยว่าจะปรับปรุงการจัดเตรียมสถาบันพื้นฐานสำหรับการใช้เงินสกุลเหรินหมินปี้ข้ามพรมแดน พร้อมเปิดตลาดการเงินให้กว้างขึ้น เสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน ตอลดจนปรับปรุงการกำกับดูแลธุรกิจข้ามพรมแดนด้วยสกุลเงินเหรินหมินปี้ในลำดับถัดไป