(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้อยู่อาศัยทำงานที่โรงงานเสื้อผ้าในอำเภอปกครองตนเองหวนเจียง กลุ่มชาติพันธุ์เหมาหนาน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 30 ส.ค. 2024)
ปักกิ่ง, 20 ก.ย. (ซินหัว) -- วันศุกร์ (20 ก.ย.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่ารายได้ของผู้อยู่อาศัยชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดตลอด 75 ปีที่ผ่านมา โดยรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 49.7 หยวน (ราว 233 บาท) ในปี 1949 เป็น 39,218 หยวน (ราว 1.84 แสนบาท) ในปี 2023
รายได้ของผู้อยู่อาศัยชาวจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี เมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้มูลค่าแท้จริงเพิ่มขึ้น 75.8 เท่า โดยจีนบรรลุเป้าหมายขจัดความยากจนสัมบูรณ์ทั่วประเทศในปี 2020 ซึ่งมีส่วนส่งเสริมกิจการลดความยากจนทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่อหัวของผู้อยู่อาศัยในชนบทที่หลุดพ้นจากความยากจนแล้วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 12,588 หยวน (ราว 59,000 บาท) ในปี 2020 เป็น 16,396 หยวน (ราว 77,000 บาท) ในปี 2023 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปี
ทั้งนี้ ช่องว่างความแตกต่างทางรายได้ระหว่างพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบท รวมถึงภูมิภาคต่างๆ ของจีน ยังคงลดลงตลอด 75 ปีที่ผ่านมา
รายได้ของผู้อยู่อาศัยในชนบทยังคงเติบโตแซงหน้ารายได้ของผู้อยู่อาศัยในเมืองตั้งแต่ปี 2012 โดยรายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงต่อหัวของผู้อยู่อาศัยในชนบทในปี 2023 อยู่ที่ 21,691 หยวน (ราว 1.02 แสนบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี และมีอัตราการเติบโตสูงกว่ารายได้ของผู้อยู่อาศัยในเมือง 1.8 จุด
ขณะเดียวกันการบริโภคของผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อหัวในปี 2023 อยู่ที่ 26,796 หยวน (ราว 1.26 แสนบาท) ส่งผลให้มูลค่าแท้จริงเพิ่มขึ้น 35.5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 1956 หลังจากปรับตามอัตราเงินเฟ้อ
การใช้จ่ายต่อหัวด้านการบริการของผู้อยู่อาศัยชาวจีนในปี 2023 อยู่ที่ 12,114 หยวน (ราว 57,000 บาท) คิดเป็นร้อยละ 45.2 ของการใช้จ่ายทางการบริโภคต่อหัว เพิ่มขึ้น 5.5 จุดจากปี 2013