ปักกิ่ง, 22 เม.ย. (ซินหัว) -- เดือนเมษายน 1955 คณะผู้แทนจาก 29 ประเทศเอเชียและแอฟริกาได้รวมตัวกันในเมืองบันดุงของอินโดนีเซียเพื่อการประชุมเอเชีย-แอฟริกา (Asian-African Conference) ครั้งประวัติศาสตร์หรือที่รู้จักกันว่าการประชุมบันดุง (Bandung Conference) ซึ่งสะท้อนการตื่นรู้ของส่วนหนึ่งในโลกที่ต่อมาเรียกว่า "ซีกโลกใต้" (Global South)
ระยะเวลาเจ็ดสิบปีที่ผ่านมา "ซีกโลกใต้" ได้สร้างสรรค์วิถีทางอันเป็นอิสระของความก้าวหน้าร่วมกันตามจิตวิญญาณบันดุงที่ว่า "ความสามัคคี มิตรภาพ และความร่วมมือ" ซึ่งนำสู่การสลัดทิ้งลัทธิอาณานิคม แสวงหาการพัฒนาร่วมกัน และปรับเปลี่ยนระเบียบระหว่างประเทศใหม่
(แฟ้มภาพซินหัว : สถานที่จัดการประชุมเอเชีย-แอฟริกา ปี 1955 ในเมืองบันดุงของอินโดนีเซีย วันที่ 18 มี.ค. 2025)
จากการจี้ปล้นอาณานิคมสู่การตื่นรู้อธิปไตย
การประชุมเอเชีย-แอฟริกา ปี 1955 ซึ่งไม่รวมมหาอำนาจชาติตะวันตกที่ล่าอาณานิคม ได้ผูกโยงชาติเอเชียและแอฟริกาเข้าสู่ความพยายามต่อต้านจักรวรรดินิยม พร้อมกำหนดหลักการอย่างเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของรัฐชาติ และไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐชาติแห่งอื่นๆ
จิตวิญญาณดังกล่าวได้กระตุ้นการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชทั่วโลก โดยปี 1960 มี 17 ชาติแอฟริกาที่สลัดทิ้งลัทธิอาณานิคม ทำให้เป็น "ปีแห่งแอฟริกา" ด้านองค์กาสหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์ว่าด้วยการมอบเอกราชแก่ประเทศและประชาชนที่ตกเป็นอาณานิคม (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples)
จีนสนับสนุนซีกโลกใต้เสมอมา โดยช่วงทศวรรษ 1970 จีนระดมคนงาน 50,000 คน เข้าก่อสร้างทางรถไฟสายแทนซาเนีย-แซมเบีย ระยะทาง 1,860 กิโลเมตร และจีนเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่รับรองและสนับสนุนรัฐบาลเฉพาะกาลของแอลจีเรีย ขณะการต่อสู้เพื่อเอกราชกัมพูชาของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ได้รับการสนับสนุนจากจีน
ความสามัคคีนี้ขับเคลื่อนกลุ่มประเทศซีกโลกใต้มาช่วยจีนให้ได้รับสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายในองค์การสหประชาชนในปี 1971
(แฟ้มภาพซินหัว : ขบวนรถไฟวิ่งบนทางรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุง ในอินโดนีเซีย วันที่ 17 เม.ย. 2024)
จากชายขอบโลกสู่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโต
การประชุมบันดุงเปิดยุคใหม่ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจใต้-ใต้ ความมุ่งมั่นจะร่วมมือกันทางเศรษฐกิจนำสู่การประสานงานเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกา และระบบเศรษฐกิจโลกที่ยุติธรรมยิ่งขึ้น
ปี 1962 คณะผู้แทนจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาพบกัน ณ กรุงไคโร และเรียกร้องความเป็นธรรมทางการค้า ต่อมาปี 1964 มีการก่อตั้งกลุ่ม 77 (Group of 77) ก่อนการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ครั้งแรก โดยกลุ่ม 77 ที่เป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 1967 พร้อมกำหนดแนวคิดหลักอย่าง "กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด" และสรุปหลักการความร่วมมือใต้-ใต้อย่างเป็นทางการ
แรงผลักดันเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เช่น กลุ่มระดับภูมิภาคอย่างสหภาพแอฟริกา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และประชาคมรัฐลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ที่บ่มเพาะความสามัคคี ขณะการขยายตัวของกลุ่มบริกส์ (BRICS) และการเปิดเขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกาส่งสัญญาณการรวมกลุ่มที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นของซีกโลกใต้
จีนนั้นส่งเสริมสิทธิการพัฒนาของซีกโลกใต้เสมอมา โดยแผนริเริ่มต่างๆ อย่างธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) และธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มบริกส์ ได้ปลดล็อกการจัดหาเงินทุนใหม่แก่กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่วนแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ขยายการเชื่อมต่อ สร้างโอกาสแก่ประเทศหุ้นส่วน
ปัจจุบันซีกโลกใต้ครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกมากกว่าร้อยละ 40 และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 80 จึงกล่าวได้ว่าซีกโลกใต้ที่เคยอยู่ชายขอบของเศรษฐกิจโลกได้ก้าวขึ้นเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตที่มีพลวัตมากที่สุด
(แฟ้มภาพซินหัว : อาคารสำนักงานใหญ่ของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย ณ กรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 13 ม.ค. 2021)
จากการครอบงำของตะวันตกสู่การบริหารปกครองของทั้งโลก
จิตวิญญาณบันดุงหลอมรวมซีกโลกใต้เข้าด้วยกันและตั้งคำถามถึงการครอบงำของชาติตะวันตกในกิจการโลกอย่างเปิดเผย นำสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงหลังจากซีกโลกใต้พยายามมานานหลายทศวรรษ
กลไกกลุ่มบริกส์ที่ขยายตัวได้เป็นเวทีสำคัญสำหรับความสามัคคีตอนใต้ การประชุมสุดยอดตอนใต้ของกลุ่ม 77+จีน ครั้งที่ 3 ได้เรียกร้องระบบเศรษฐกิจการเงินที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น และการประชุมสุดยอดปักกิ่งว่าด้วยการประชุมความร่วมมือจีน-แอฟริกา ปี 2024 มีจีนและ 53 ประเทศแอฟริการวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเดินหน้าความยุติธรรมและความเป็นธรรมของโลก ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงสู่การบริหารปกครองของทั้งโลกด้วยการมีส่วนร่วมของซีกโลกใต้
จีนได้ยืนหยัดอยู่กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาตลอดในการมอบความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ส่งเสริมการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค และกระชับความร่วมมือใต้-ใต้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นภายใต้การชี้นำจากจิตวิญญาณบันดุง โดยจีนจัดสรรความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศต่างๆ กว่า 160 แห่ง และเป็นหุ้นส่วนกับประเทศต่างๆ มากกว่า 150 แห่งภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รวมถึงจัดตั้งกองทุนการพัฒนาโลกและความร่วมมือใต้-ใต้ ร่วมก่อตั้งแผนริเริ่มความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาการแบบเปิด และเสนอ 10 ปฏิบัติการความเป็นหุ้นส่วนของจีนและแอฟริกา
วิสัยทัศน์ของจีนในการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน ควบคู่กับแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (GDI) แผนริเริ่มความมั่นคงโลก (GSI) และแผนริเริ่มอารยธรรมโลก (GCI) สอดคล้องกับการแสวงหาสันติภาพ การพัฒนา และความยุติธรรมของซีกโลกใต้ โดยแนวคิดเหล่านี้ให้คุณค่ากับความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่าการมีอำนาจครอบงำและสะท้อนแรงบันดาลใจร่วมกันของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา