(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามและสิ่งปลูกสร้างในกรุงปักกิ่งของจีน วันที่ 29 พ.ย. 2023)
ปักกิ่ง, 12 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (11 เม.ย.) รายงานหัวข้อ "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และวิสัยทัศน์ของเส้นทางสายไหมทางทะเล : ขอบเขตใหม่ความร่วมมือจีน-อาเซียน" จากสถาบันซินหัว หน่วยงานคลังสมองสังกัดสำนักข่าวซินหัวของจีน ระบุว่าความร่วมมือจีน-อาเซียนได้กลายเป็นต้นแบบความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จและมีพลวัตมากที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งปูทางสู่ความก้าวหน้าครั้งใหม่ในการสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่มีอนาคตร่วมกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
รายงานเผยว่าจีนและอาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดกว้างที่มีมาตรฐานสูงของจีนในการสร้างความตกลงฯ ที่ปรับปรุงดีขึ้น โดยจีนซึ่งมีประชากรที่มีรายได้ปานกลางกว่า 400 ล้านคน เป็นตลาดสินค้าและบริการขนาดใหญ่สำหรับอาเซียน เอื้อให้ผลิตภัณฑ์อาเซียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่การบริโภคของจีนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้งกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์เครื่องกลไฟฟ้าของจีนและบริการที่เกี่ยวข้องในอาเซียน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตลาดร่วมกัน
รายงานระบุว่าจีนและอาเซียนจำเป็นต้องส่งเสริมการขยายตัวและการยกระดับกฎเกณฑ์และมาตรฐานระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและเพิ่มอิทธิพลในระดับโลก
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังต้องส่งเสริมการพัฒนาการเชื่อมโยงในภูมิภาค ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และห่วงโซ่อุปทานแบบบูรณาการที่มีคุณภาพสูง รวมถึงมุ่งเน้นที่หลายภาคส่วนสำคัญ เช่น พลังงานใหม่ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตขั้นสูง เพื่อบ่มเพาะกลุ่มอุตสาหกรรมข้ามพรมแดน
รายงานเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายแสวงหาความร่วมมือที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในภาคส่วนเกิดใหม่และมีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การผลิตอัจฉริยะ การจัดเก็บพลังงานใหม่และการผลิตอุปกรณ์ ชีวเภสัชภัณฑ์ คลังข้อมูลขนาดใหญ่ การประมวลผลคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ รายงานเสนอแนะให้จีนและอาเซียนยกระดับการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนผ่านการขยายการแลกเปลี่ยนนักศึกษาสองทาง กระชับความร่วมมือของหน่วยงานคลังสมอง อีกทั้งดำเนินงานเพื่อขยายนโยบายฟรีวีซ่า และปรับปรุงขั้นตอนเกี่ยวกับวีซ่าและการควบคุมชายแดนต่อไป