หนานหนิง, 19 เม.ย. (ซินหัว) -- จากไร่อ้อยกว้างใหญ่ไปจนถึงการขนส่งในเมืองอันแสนวุ่นวาย การตรวจสอบสายไฟในหุบเขา หรือแม้แต่การกู้ภัยน้ำท่วม "โดรน" หรือ อากาศยานไร้คนขับของจีน ซึ่งมีราคาคุ้มค่าและประสิทธิภาพสูง กำลังสร้างความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง และเข้าไปมีบทบาทในหลากหลายอุตสาหกรรม จนกลายเป็นแรงขับเคลื่อน "กำลังผลิตใหม่" ที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของจีน
เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีนเป็นฐานปลูกพืชน้ำตาลและแหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญของประเทศ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูควบคุมโรคและแมลงในไร่อ้อย ที่ตำบลเฉิงเซียงในนครหนานหนิง เจ้าหน้าที่เทคนิคจะนำโดรนเข้ามาบินพ่นสารกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่ปลูกอ้อยกว่า 4,000 หมู่ (ราว 1,666 ไร่) โดยโดรนถูกใช้พ่นยาฆ่าแมลง กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ยน้ำ และจะทำงานเช่นนี้ในพื้นที่ไร่อ้อยขนาดใหญ่อย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง จนได้รับความนิยมจากเกษตรกร เพราะถ้าจ้างแรงงานต้องจ่ายค่าแรงมากกว่า 20 หยวนต่อหมู่ (ประมาณ 100 บาท) แต่ถ้าใช้โดรนต้นทุนจะอยู่ที่แค่ 10 หยวนต่อหมู่ ทั้งยังประหยัดการใช้ยากำจัดศัตรูพืช
สวี่จวิน ผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรในท้องถิ่นกล่าวว่า ช่วงเมษายนถึงกรกฎาคมฝนจะตกบ่อย โรคและแมลงจะระบาดได้ง่ายในไร่อ้อย แต่การใช้โดรนแค่ 2 ลำ ก็สามารถกำจัดแมลงและวัชพืชในพื้นที่ 4,000 หมู่ได้ภายในสัปดาห์เดียว หากใช้แรงงานต้องใช้คนอย่างน้อย 30 คนทำต่อเนื่องนานกว่า 20 วัน การใช้โดรนยังทำให้คนทำงานไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์โดรนของดีเจไอ (DJI) ในงานมหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคนานาชาติจีน (CICPE) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2025)
นอกจากภาคเกษตร โดรนกำลังมีบทบาทในชีวิตประจำวันของชาวจีนมากขึ้น ทั้งด้านการขนส่งทางอากาศระดับต่ำ การแพทย์ และอื่นๆ เช่น ในหนานหนิงมีการส่งอาหารจากร้านในตัวเมืองถึงมือลูกค้าที่อยู่ห่างออกไป 13 กิโลเมตรภายในเวลาเพียง 13 นาที หรือการขนส่งเวชภัณฑ์ไปยังจุดขึ้นบินและลงจอดที่ศูนย์รับเลือดส่วนกลางภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีหลังบินข้ามเขตเมืองเป็นระยะทางกว่า 20 กิโลเมตร
หานเล่อเหวิน ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทผู้ดำเนินการขนส่งโดรนข้างต้นระบุว่า หากใช้รถยนต์วิ่งในระยะทางเดียวกันต้องใช้เวลานาน 40-50 นาที แต่การขนส่งด้วยโดรนที่สามารถติดตามและควบคุมกระบวนการขนส่งได้แบบเรียลไทม์ ช่วยให้การขนส่งเลือดมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น
โดรนยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกตัวอย่างจากช่วงต้นเดือนกันยายนปี 2024 ที่พายุไต้ฝุ่นยางิส่งผลให้ระดับน้ำของแม่น้ำอวี้เจียงในหนานหนิงเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2001 จนหลายพื้นที่ประสบอุทกภัย จึงมีการนำโดรนมาใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยที่สำคัญ
หลี่เจิ้นซิง เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเศรษฐกิจการบินระดับต่ำของเมืองหนานหนิงเผยว่า สมาชิกที่เป็นบริษัทด้านโดรน 6 แห่งของสมาคมได้ร่วมส่งโดรนรวม 38 ลำ ทำภารกิจป้องกันน้ำท่วม 209 เที่ยว มีระยะทางบินลาดตระเวนรวม 787 กิโลเมตร และตรวจพบจุดเสี่ยงรวม 88 แห่ง
(แฟ้มภาพซินหัว : หมู่บ้านเยียนเติงเป่า ในอำเภอซีกุย มณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เกษตรกรใช้โดรนขนส่งส้มสะดือ วันที่ 13 เม.ย. 2025)
อีกด้านหนึ่งโดรนยังถูกนำไปใช้งานด้านการสำรวจภูมิประเทศและลักษณะภูมิศาสตร์ หากติดตั้งโมดูลส่งภาพผ่านระบบ 4G ก็สามารถสั่งการจากระยะไกลได้ โดรนที่มีกล้องถ่ายภาพมัลติสเปกตรัมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานเกษตร ขณะที่โดรนติดเรดาร์ช่วยให้เก็บข้อมูลสำหรับการทำแผนที่ได้แม่นยำมากขึ้น
สถิติระบุว่าในปี 2024 จีนออกใบรับรองมาตรฐานโดรนไร้คนขับจำนวน 6 รุ่น มีการลงทะเบียนโดรนเพิ่มกว่า 1.1 ล้านลำ มีจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโดรนมากกว่า 20,000 แห่ง และมียอดการบินสะสมของโดรนรวม 26.66 ล้านชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนและอาเซียนร่วมมือกันขยายขอบเขตการใช้โดรนในหลากหลายสาขา เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว และการสำรวจแผนที่ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีในจีนก็กำลังเร่งสร้างศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจการบินระดับต่ำจีน-อาเซียน ด้วยโมเดลที่บูรณาการโดรนเข้ากับการค้าชายแดนดิจิทัล และโลจิสติกส์ข้ามพรมแดน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีสำคัญ เช่น ความสามารถในการบินในสภาพแวดล้อมป่าฝนเขตร้อน และการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการบินของหลายประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีโดรนของจีนเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างราบรื่น