(ภาพจากสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์แห่งซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน : หลี่เสี่ยวซวง นักวิจัยประจำสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์แห่งซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน พูดคุยกับนักศึกษาในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 5 ก.ค. 2024)
อุรุมชี, 9 ก.พ. (ซินหัว) - คณะนักวิจัยของจีนได้ระบุกลไกระดับโมเลกุลที่อยู่เบื้องหลังความทนทานต่อความเย็นของมอสส์ทะเลทราย (Syntrichia caninervis) ซึ่งอาจมีบทบาทในความพยายามปรับสภาพพื้นผิวดาวอังคารให้สามารถอยู่อาศัยได้ในอนาคต
มอสส์ทะเลทรายเป็นที่รู้จักจากความแข็งแกร่งต่อการระเหยน้ำ อุณหภูมิเย็นยะเยือก และรังสีแกมมา ทั้งยังแสดงความสามารถมีชีวิตรอดในสภาพแวดล้อมดาวอังคารแบบจำลอง
คณะนักวิจัยของจีนได้จัดลำดับอาร์เอ็นเอ (RNA) ในตัวอย่างมอสส์ที่มีน้ำอยู่และเจออุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส และ -4 องศาเซลเซียส เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกของยีนเมื่อเวลาผ่านไป เพื่อเข้าใจการตอบสนองระดับโมเลกุลต่อภาวะเครียดจากความเย็นได้ดียิ่งขึ้น
การศึกษาพบว่ากลไกสำคัญ เช่น การเผาผลาญน้ำตาลและพลังงาน การเผาผลาญไขมัน และการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระ มีส่วนส่งเสริมความสามารถทนทานภาวะเครียดจากความเย็นของมอสส์อย่างมีนัยสำคัญ โดยยีนส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์ด้วยแสงถูกควบคุมการเพิ่มองค์ประกอบของเซลล์ในการตอบสนองต่อความเย็น บ่งชี้ว่ามอสส์อาจปรับกระบวนการเผาผลาญเพื่อมีชีวิตรอดในสภาวะอุณหภูมิต่ำ
การค้นพบแสนพิเศษคือบทบาทของกลุ่มยีนเอ-5 ดีอาร์อีบี (A-5 DREB) โดยเฉพาะเอสซีดีอาร์อีบีเอ5 (ScDREBA5) ซึ่งถูกควบคุมการเพิ่มองค์ประกอบของเซลล์ราว 1,000 เท่า โดยยีนนี้ปรากฏความสำคัญในความสามารถทนทานสภาวะเย็นจัดของมอสส์
หลี่เสี่ยวซวง ผู้ร่วมเขียนผลการศึกษา กล่าวว่าการศึกษานี้ไม่เพียงเพิ่มความเข้าใจกลไกความทนทานต่อความเย็นในมอสส์ทะเลทราย แต่ยังมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาพืชตายยากที่สามารถเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมเลวร้ายสุดขั้ว
อนึ่ง การศึกษานี้ดำเนินการโดยสถาบันนิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์แห่งซินเจียง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และเผยแพร่ผ่านวารสารแพลนท์ เซลล์ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนต์ (Plant, Cell & Environment) เมื่อไม่นานนี้