ปักกิ่ง, 18 มี.ค. (ซินหัว) -- การศึกษาเผยว่ามาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศของจีนอาจลดจำนวนการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและจิตเวชของผู้ป่วยได้มากกว่า 2.7 แสนครั้งภายใน 4 ปี
งานวิจัยดังกล่าว ซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยซีอัน เจียวทง วิเคราะห์บันทึกการเข้ารักษาในโรงพยาบาลมากกว่า 48 ล้านรายการใน 292 เมืองของจีน ระหว่างปี 2013-2017 ซึ่งส่งมอบข้อมูลด้านสุขภาพที่ครอบคลุมจากแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันและควบคุมมลพิษทางอากาศทั่วจีน (APPCAP) ของจีนที่เปิดตัวในปี 2013
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าฝุ่นพิษพีเอ็ม2.5 (PM2.5) และผงฝุ่นเขม่าดำเชื่อมโยงกับโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรัง เช่น โรคทางเดินหายใจ และโรคหัวใจและหลอดเลือด
การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ เมดิซีน (Nature Medicine) พบว่าความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของพีเอ็ม2.5 และผงฝุ่นเขม่าดำในปี 2017 ลดลงร้อยละ 28.61 และร้อยละ 20.35 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2013 โดยนโยบายอากาศสะอาดของจีนช่วยลดอัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลจากโรคร้ายแรง 9 โรคที่เกี่ยวข้องกับพีเอ็ม2.5 เฉลี่ยร้อยละ 30 และที่เกี่ยวกับผงฝุ่นเขม่าดำร้อยละ 21.14
ในด้านสุขภาพจิต การเข้ารักษาตัวที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าลดลงร้อยละ 34.35 ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดในบรรดาอาการทั้งหมดที่มีการสำรวจ รองลงมาคือโรคจิตเภท (ร้อยละ 32.56)
ส่วนในด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด พบการเข้ารักษาตัวจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะลดลงร้อยละ 32.52 รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง (ร้อยละ 29.66) โรคหลอดเลือดหัวใจ (ร้อยละ 29.74) และภาวะหัวใจล้มเหลว (ร้อยละ 28.92)
รายงานระบุว่าอากาศที่สะอาดเชื่อมโยงกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง โรคพาร์กินสัน และโรคไตเรื้อรังที่ลดลง โดยนักวิจัยกล่าวว่าการศึกษานี้เน้นย้ำประโยชน์ด้านสุขภาพที่หลากหลายของอากาศที่สะอาดหลังจากการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ
(แฟ้มภาพซินหัว : ทิวทัศน์เมืองโบราณสือชี่โข่ว เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน วันที่ 28 ก.พ. 2025)