(แฟ้มภาพซินหัว : มวลน้ำไหลออกจากเขื่อนสามผาในมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน วันที่ 19 ส.ค. 2020)
หนานจิง, 15 ธ.ค. (ซินหัว) -- บทความวิจัยจากไซเอนซ์ บูลเลติน (Science Bulletin) รายงานว่าอ่างเก็บน้ำหลายแห่งของจีนมีกำลังการกักเก็บโดยรวมเพิ่มขึ้นราว 4.7 แสนล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 90.8 เมื่อนับตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งช่วยเพิ่มพูนทรัพยากรน้ำจืดสำหรับน้ำดื่มอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานระบุว่าจีนมีทะเลสาบ 2,670 แห่ง และอ่างเก็บน้ำที่มีพื้นที่ใหญ่กว่า 1 ตารางกิโลเมตร 5,156 แห่ง ขณะโครงการโครงสร้างพื้นฐานการอนุรักษ์น้ำที่สำคัญได้เสริมสร้างทรัพยากรน้ำจืดในทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำอย่างมาก ซึ่งช่วยเพิ่มความปลอดภัยของแหล่งน้ำดื่ม
ขณะระดับธาตุอาหารไนโตรเจน-ฟอสฟอรัส และความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมีลดลงอย่างชัดเจน ส่วนการเพิ่มขึ้นของออกซิเจนละลายในน้ำบ่งชี้พัฒนาการอันดีอย่างต่อเนื่องของคุณภาพน้ำในทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำ
อัตราส่วนของทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำที่ถูกจัดประเภทเป็นแหล่งน้ำดื่มส่วนกลางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2016-2023 โดยความก้าวหน้านี้ช่วยให้ชาวเมือง 561.4 ล้านคน เข้าถึงแหล่งน้ำดื่มที่ดีขึ้นในปี 2022 เมื่อเทียบกับจำนวน 303.4 ล้านคนในปี 2004
นอกจากนั้นปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algal bloom) หรือปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียวทั่วจีนได้บรรเทาลงอย่างมากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
การศึกษานี้ร่วมจัดทำโดยคณะนักวิจัยจากสถาบันภูมิศาสตร์และชลธารวิทยาแห่งหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน มหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็น ศูนย์เฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมแห่งชาติจีน และมหาวิทยาลัยแบงกอร์ในสหราชอาณาจักร