(แฟ้มภาพซินหัว : ลูกค้าเลือกผักที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองหนานจิง มณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน วันที่ 9 ม.ค. 2025)
ปักกิ่ง, 24 พ.ค. (ซินหัว) -- คณะกรรมการกำกับดูแลโภชนาการและสุขภาพระดับชาติของจีนเผยแพร่แนวปฏิบัติด้านโภชนาการ ซึ่งมุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นในหมู่ประชากรและแก้ไขปัญหาโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นของประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคอาหาร 3 ประเภทหลักเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ
แนวปฏิบัติดังกล่าวเน้นย้ำความสำคัญของการรับประทานผักในอาหารทุกมื้อและบริโภคผลไม้เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ควรรับประทานผักสดอย่างน้อย 300 กรัมต่อวัน และให้มีผักใบเขียวเข้มครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของผักทั้งหมด ส่วนผลไม้สดควรรับประทานระหว่าง 200-350 กรัมต่อวัน
ทั้งนี้ ผักและผลไม้ไม่สามารถทานทดแทนกันได้ เนื่องจากทั้งสองอย่างมีความจำเป็นและคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกัน การรับประทานทั้งผักและผลไม้จึงสำคัญต่อสมดุลของอาหาร
ขณะธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต คีนัว และข้าวสาลีไม่ขัดสี เป็นแหล่งใยอาหาร วิตามินบี และแร่ธาตุจำเป็น โดยผู้ใหญ่ควรบริโภคธัญพืชไม่ขัดสี 50-100 กรัมต่อวัน และควรมีธัญพืชไม่ขัดสีเป็นส่วนประกอบอย่างน้อย 1 มื้อจาก 3 มื้อต่อวัน เพื่อรับประกันว่าได้รับสารอาหารเพียงพอและดีต่อสุขภาพของระบบย่อยอาหาร
ส่วนผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำควรเน้นปลาที่มีไขมันสูง เช่น แซลมอน ปลาไหล และปลาแมคเคอเรล ซึ่งล้วนอุดมด้วยดีเอชเอ (DHA) และอีพีเอ (EPA) รวมถึงวิตามินดีและเอ สาหร่ายอย่างสาหร่ายเคลป์ วากาเมะ และลาเวอร์ มีไอโอดีน วิตามินเค และโฟเลต (folate) และอาหารทะเลที่มีเปลือก (shellfish) ยังช่วยให้ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และแร่ธาตุที่จำเป็นอื่นๆ
แนวปฏิบัติสำทับว่าปริมาณการบริโภคปลา กุ้ง และอาหารทะเลที่มีเปลือกที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ 300-500 กรัมต่อสัปดาห์ แบ่งเป็น 1-2 มื้อ พร้อมแนะนำให้เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้สูงอายุบริโภคผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติด้านโภชนาการล่าสุดออกมาท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตราโรคอ้วนที่สูงขึ้น โดยข้อมูลจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนระบุว่าอัตราโรคอ้วนและน้ำหนักเกินรวมกันในผู้ใหญ่ชาวจีนสูงแตะร้อยละ 51.2 ซึ่งหากไม่มีการแทรกแซง ตัวเลขนี้อาจสูงเกินร้อยละ 70 ภายในปี 2030