อุรุมชี, 14 ต.ค. (ซินหัว) -- ผลสำรวจจากหน่วยงานคลังสมองของสำนักข่าวซินหัวพบว่าองค์กรสื่อทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองต่อปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ในแง่ดี แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจุดกระแสถกเถียงและก่อให้เกิดข้อวิตกกังวล
การสำรวจข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน "ความรับผิดชอบและภารกิจของสื่อมวลชนในยุคปัญญาประดิษฐ์" ซึ่งเผยแพร่วันจันทร์ (14 ต.ค.) ระหว่างการประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 6 ในนครอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ผลสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 66 มีมุมมองเชิงบวกต่อปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ แบ่งเป็นร้อยละ 20.3 เห็นด้วยอย่างมาก และร้อยละ 45.7 เห็นด้วยระดับหนึ่งว่าปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์สร้างโอกาสมากกว่าความท้าทาย
อย่างไรก็ดี มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนเล็กน้อยที่แสดงความกังขา ได้แก่ ร้อยละ 2.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 1.6 ไม่เห็นด้วยอย่างมาก ขณะเดียวกันร้อยละ 29.6 ยังคงไม่แน่ใจว่าปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์มีข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่
ผลสำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งขององค์กรสื่อทั้งหมดได้บูรณาการปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์เข้ากับการดำเนินงานแล้ว โดยการประยุกต์ใช้งานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับงานแก้ไขเนื้อหา สร้างสรรค์เนื้อหา และวางประเด็นหรือร่างเค้าโครง
ขณะข้อวิตกกังวลหลักของกลุ่มสื่อมวลชนที่ลังเลจะใช้งานเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มรูปแบบคือความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของเนื้อหาที่สร้างจากปัญญาประดิษฐ์ ความท้าทายของการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์-เครื่องจักร และต้นทุนการลงทุนที่สูง
อนึ่ง การสำรวจนี้ครอบคลุมองค์กรสื่อจาก 53 ประเทศและภูมิภาค ทั้งหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุ สำนักข่าว เว็บไซต์ และผู้ให้บริการทางโทรศัพท์มือถือ โดยมีการสำรวจเป็นภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ผ่านแบบสำรวจรวม 1,207 ชุด ซึ่งมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,094 ชุด
(แฟ้มภาพซินหัว : นักข่าวทำงานที่ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติซินเจียง ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดสื่อโลก ครั้งที่ 6 ในนครอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน วันที่ 13 ต.ค. 2024)