(แฟ้มภาพซินหัว : เมิ่งเสี่ยง (Meng Xiang) เรือขุดเจาะใต้ทะเลลึกลำแรกที่จีนออกแบบและสร้างขึ้นเอง ในนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 2024)
กว่างโจว, 17 พ.ย. (ซินหัว) -- เมิ่งเสี่ยง (Meng Xiang) เรือขุดเจาะใต้ทะเลลึกลำแรกที่จีนออกแบบและสร้างขึ้นเอง ซึ่งสามารถขุดเจาะที่ความลึกสูงสุด 11 กิโลเมตร เข้าประจำการอย่างเป็นทางการในนครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของประเทศ ในวันอาทิตย์ (17 พ.ย.) นับเป็นก้าวสำคัญในการก้าวไปถึงจุดที่มนุษย์ไม่เคยไปถึงมาก่อน
เมิ่งเสี่ยง ซึ่งเป็นเรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน มีความยาว 179.8 เมตร กว้าง 32.8 เมตร มีระวางขับน้ำ 42,600 ตัน และสามารถเดินทางได้ไกล 15,000 ไมล์ทะเล ทำงานในทะเลต่อเนื่องกันได้นาน 120 วัน และจุคนได้ 180 คน
สวี่เจิ้นเฉียง ผู้อำนวยการสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาทางทะเลกว่างโจว สังกัดสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งประเทศจีน (CGS) กล่าวว่าตัวอย่างที่เก็บได้จากชั้นโลกใต้ทะเลลึก จะช่วยให้หลักฐานโดยตรงแก่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกในการศึกษาลักษณะแผ่นเปลือกโลก วิวัฒนาการของเปลือกโลก ภูมิอากาศทางทะเลในยุคโบราณ และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต กล่าวได้ว่าเรือลำนี้จะช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจ ปกป้อง และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรได้ดีขึ้น
จางไห่ปินหัวหน้าฝ่ายออกแบบของเรือเมิ่งเสี่ยง กล่าวว่าเรือลำนี้เป็นเรือลำแรกของโลกที่ผสานความสามารถหลายด้านไว้ด้วยกัน เช่น การขุดเจาะทางวิทยาศาสตร์ใต้ทะเลลึก การสำรวจน้ำมันและก๊าซ การตรวจสอบและทดลองสกัดก๊าซไฮเดรตในธรรมชาติ หลังผ่านการทดสอบการทำงานในทะเลแล้วสองรอบ ก็พบว่าตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพหลักหลายรายการมีผลทดสอบดีเกินความคาดหมาย
เรือลำนี้ติดตั้งแท่นยกระบบยกไฮดรอลิกแท่นแรกของโลก ที่สามารถทำได้ทั้งการสำรวจน้ำมันและก๊าซ และการเก็บตัวอย่างแกนโลก โดยมีกำลังยกสูงสุด 907 ตัน รองรับโหมดการเจาะ 4 ประเภท และมีวิธีการเจาะ 3 วิธี ตอบโจทย์ความต้องการด้านการปฏิบัติงานที่หลากหลาย เช่น การเจาะชั้นโลกใต้ทะเลลึก และการสำรวจทรัพยากรใต้ทะเลลึก
เรือลำนี้ยังมีห้องปฏิบัติการขั้นสูงครอบคลุมหลายสาขารวม 9 ห้อง อาทิ สาขาธรณีวิทยา ธรณีเคมี จุลชีววิทยา สมุทรศาสตร์ และเทคโนโลยีการขุดเจาะ นอกจากนี้ยังมีระบบอัตโนมัติด้านการจัดเก็บตัวอย่างชั้นโลกที่รองรับการวิจัยทางทะเล แห่งแรกของโลก
เรือเมิ่งเสี่ยงออกแบบตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านการรับมือกับซูเปอร์ไต้ฝุ่น สามารถทำงานได้ตามปกติในสภาวะที่ทะเลมีคลื่นแรง และสามารถปฏิบัติภารกิจระดับโลกได้ในน่านน้ำที่ไม่ได้ถูกจำกัด
ทั่วไปแล้ว กิจกรรมของมนุษย์และการสำรวจทางวิทยาศาสตร์มักจะจำกัดอยู่แค่เปลือกโลกซึ่งมีความหนาเฉลี่ย 15 กิโลเมตร ถัดลงไปจากเปลือกโลกคือชั้นแมนเทิลหรือเนื้อโลก ชั้นโครงสร้างสำคัญของโลกที่เชื่อมต่อระหว่างเปลือกโลกกับแก่นโลก เรือเมิ่งเสี่ยงจึงถือเป็นก้าวสำคัญของมนุษยชาติในการไปถึงหรือแม้กระทั่งทะลุผ่านขอบเขตรอยต่อระหว่างเปลือกโลกและเนื้อโลกที่เรียกกันว่า "ชั้นความไม่ต่อเนื่องโมโฮโรวิซิก" (Mohorovicic Discontinuity) หรือเรียกย่อๆ ว่า "โมโฮ" (Moho)