(แฟ้มภาพซินหัว : เทียนโจว-7 ยานอวกาศขนส่งสัมภาระของจีน เทียบท่ากับสถานีอวกาศเทียนกงในอวกาศ ภาพจำลองจากศูนย์ควบคุมการบินอวกาศแห่งปักกิ่ง วันที่ 18 ม.ค. 2024)
จูไห่, 16 พ.ย. (ซินหัว) -- แหล่งข่าวจากงานนิทรรศการการบินและการบินอวกาศนานาชาติจีน หรือแอร์โชว์ ไชน่า ครั้งที่ 15 ในเมืองจูไห่ มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน รายงานว่าจีนเดินหน้าระบบขนส่งสัมภาระสู่สถานีอวกาศแบบประหยัดต้นทุน ขณะประสบความสำเร็จในการปรับปรุงประสิทธิภาพของยานอวกาศขนส่งสัมภาระและจรวดร่วมกัน
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีนประกาศการคัดเลือกยานอวกาศขนส่งสัมภาระชิงโจว ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันนวัตกรรมเพื่อดาวเทียมขนาดเล็ก สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งสัมภาระต้นทุนต่ำ
รายงานระบุว่าจรวดลี่เจี้ยน-2 (Lijian-2) ซึ่งผลิตโดยซีเอเอส สเปซ (CAS Space) จะเป็นยานพาหนะปล่อยหลักสำหรับภารกิจชิงโจว โดยเหลียนเจี๋ย ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของซีเอเอส สเปซ เผยว่าชิงโจวและลี่เจี้ยน-2 ได้ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพร่วมกันเมื่อไม่นานนี้ ช่วยให้เกิดการขนส่งสัมภาระห่วงโซ่ความเย็นหลายรายการ
เหลียนเสริมว่าการปรับปรุงประสิทธิภาพนี้ลดข้อกำหนดด้านสภาพแวดล้อมของส่วนต่อประสานยานอวกาศ-จรวด เพิ่มความคล่องตัวของกระบวนการทดสอบและปล่อยจรวด และสามารถเฝ้าติดตามและควบคุมยานอวกาศและจรวดเชิงบูรณาการ
ทั้งนี้ ซีเอเอส สเปซ ได้ดำเนินการทดสอบภาคพื้นดินที่สำคัญหลายรายการ เช่น ทดสอบปล่อยคลื่นเสียงแบบหลายช่องทาง ทดสอบการแยกตัวแบบแบ่งระยะ ทดสอบความคงตัวเชิงโครงสร้าง ทดสอบการบูรณาการระบบอากาศยาน และทดสอบการติดเครื่องยนต์