หนานหนิง, 9 พ.ย. (ซินหัว) -- ฐานการผลิตของบริษัทเทียนซือ เรดบูล (กว่างซี) เบเวอเรจ จำกัด (Tiansi Red Bull (Guangxi) Beverage Co., Ltd.) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 หมู่ (ราว 83 ไร่) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียนกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างในปัจจุบัน โดยมีทั้งห้องปฏิบัติการระบบทันสมัย คลังสินค้าอัตโนมัติ ตลอดจนสายการผลิตความเร็วสูงระบบอัตโนมัติ
โครงการก่อสร้างฐานการผลิตแห่งนี้ มีแผนการลงทุนมูลค่า 1.3 พันล้านหยวน (ราว 6.2 พันล้านบาท) คาดว่าจะเริ่มการผลิตได้ในเดือนธันวาคมปีนี้ และจะผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ ได้มากถึง 48 ล้านลังต่อปี คิดเป็นมูลค่าการผลิตประมาณ 2 พันล้านหยวน (ราว 9.5 พันล้านบาท)
กว่างซี เป็นหน้าต่างเชื่อมต่อกับอาเซียนของจีน จึงได้รับความสนใจจากบริษัทในอาเซียนที่ต้องการเข้าสู่ตลาดจีนมาโดยตลอด ย้อนกลับไปในปี 1993 บริษัทอีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป (East Asia Sugar Group) ก่อตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้าของบริษัทกลุ่มมิตรผลของไทยและโรงงานน้ำตาลในกว่างซีที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ 4 แห่ง โดยประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาล พลังงานชีวภาพ ปุ๋ย ยีสต์ อาหารสัตว์ ฯลฯ และกลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทน้ำตาลชั้นนำของจีนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บริษัทไทยอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ และทีพีซี กรุ๊ป ก็ดำเนินธุรกิจในกว่างซีทั้งยังดึงดูดให้บริษัทต้นน้ำและปลายน้ำจำนวนมากให้มาตั้งฐานที่นี่
เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย. เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน ได้จัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน-ไทย (ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "นิคมแปรรูปฯ") โดยมีตัวแทนคณะกรรมการเขตพัฒนาฯ และคณะผู้แทนไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงลึกด้านการลงทุน การสนับสนุนทางนโยบาย การพัฒนาอุตสาหกรรม และอื่นๆ
เขตพัฒนาฯ เป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีบริษัทแปรรูปอาหารมากกว่า 130 แห่งมาตั้งอยู่ที่นี่ อาทิ บริษัทที่ติดอันดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและในจีน อย่างบัดไวเซอร์ (Budweiser) ซวงฮุ่ย (Shuanghui) คอฟโก (COFCO) อีลี่ (Yili) ไห่เทียน (Haitian) ฯลฯ เขตพัฒนาฯ ใช้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศรวมกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.6 พันล้านบาท) ระหว่างปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ในจำนวนนี้เป็นการใช้เงินทุนจากบริษัทไทยร้อยละ 23
หลัวจื่อซาน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาฯ เผยว่าบริษัทนิคมแปรรูปฯ มุ่งดึงดูดการลงทุนจากประเทศในอาเซียน และมุ่งสร้างฐานอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความเป็นสากล
ด้านบัญญัติ บุญญา นายกสมาคมนักธุรกิจอาเซียน กล่าวว่าสมาคมส่งผู้ประกอบการไทยไปศึกษาดูงานยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วจีนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ครั้งนี้ได้เดินทางมายังนครหนานหนิง เพื่อหารือเกี่ยวกับธุรกิจ และศึกษาข้อได้เปรียบของกว่างซีสำหรับอาเซียน รวมถึงข้อได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงจะแนะนำให้ผู้ประกอบการชาวไทยเดินทางมาจัดตั้งนิคมของตนเองในนิคมแห่งนี้กันมากขึ้น
บัญญัติระบุว่าจังหวัดปทุมธานีเป็นศูนย์กลางวัตถุดิบสำคัญในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทย มีตลาดค้าส่งพืชผักผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ในการนี้ จังหวัดปทุมธานีได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่งคณะตัวแทนทางการเมืองและธุรกิจกว่า 30 คน มาเยี่ยมชม แลกเปลี่ยน และแสวงหาโอกาสความร่วมมือที่เขตพัฒนาฯ
ชุติมา นรชาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี กล่าวชื่นชมมิตรภาพอันยาวนานและความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไทย ที่ใกล้ชิดกันผ่านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการค้า พร้อมกล่าวว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ของสองประเทศ และวางรากฐานไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ในอนาคต
ชุติมากล่าวว่าจังหวัดปทุมธานีมีนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่ง และนิคมด้านอาหารอื่นๆ ที่ให้บริการแก่นักลงทุนต่างชาติอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจดทะเบียนบริษัท การส่งเสริมการลงทุน ไปจนถึงการก่อสร้าง ปัจจุบัน มีโรงงานมากกว่า 200 แห่งที่บริษัทจีนมาลงทุน เช่น โรงงานอาหารแช่แข็ง โรงงานอาหารกึ่งสำเร็จรูป โรงงานผลิตกาแฟและอาหารเพื่อสุขภาพ และโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตร
บัญญัติกล่าวเสริมว่าผู้บริโภคชาวจีนชื่นชอบอาหารและเครื่องปรุงรสของไทย เนื่องจากมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งทางสมาคมพร้อมให้คำแนะนำแก่บริษัทไทยที่สนใจพัฒนาเครื่องปรุงรสที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวจีน
จั่วเหว่ย ผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาฯ กล่าวว่านิคมการศึกษาหนานหนิง (เขตตะวันตก) ของเขตพัฒนาฯ ยังมุ่งส่งเสริมกิจกรรมการศึกษาระหว่างสถาบันในไทยและประเทศอาเซียน เพื่อบูรณาการอุตสาหกรรมเข้ากับภาคการศึกษา ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาในนิคมจำนวน 6 แห่ง ได้มีความร่วมมือกับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในอาเซียน อาทิ โครงการศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ สังกัดโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมุ่งเน้นสาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ธุรกิจอาหาร การชลประทานและการไฟฟ้า
<br />(แฟ้มภาพซินหัว : เขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีกว่างซี-อาเซียน จัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแปรรูปอาหารจีน-ไทย เมื่อวันที่ 7-8 พ.ย. 2024)