(แฟ้มภาพซินหัว : ซากโบราณหนานผานสือในอำเภอหลินเฉิง มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีน วันที่ 10 ต.ค. 2024)
สือเจียจวง, 18 ต.ค. (ซินหัว) -- มณฑลเหอเป่ยทางตอนเหนือของจีนค้นพบซากที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ยุคหินใหม่ ซึ่งมีความเก่าแก่ราว 6,000 ปี และถือเป็นหลักฐานใหม่ที่ช่วยให้คณะนักโบราณคดีเข้าใจพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในยุคหินใหม่ตอนต้นของจีนได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น
คณะนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยครูเหอเป่ย สถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมณฑลเหอเป่ย และหน่วยงานคุ้มครองโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น ได้เริ่มต้นขุดสำรวจ "ซากโบราณหนานผานสือ" ขนาด 300 ตารางเมตร ในอำเภอหลินเฉิงของมณฑลเหอเป่ยเมื่อเดือนสิงหาคมและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนตุลาคม
เหอเซียงต้ง นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่วิทยาลัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยฯ กล่าวว่ามีการขุดพบเครื่องกระดูก เครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือหิน รวมถึงรากฐานบ้าน หลุมศพ ที่ฝังภาชนะคล้ายโกศ และหลุมขี้เถ้า
สั่วลี่เสีย เจ้าหน้าที่หน่วยงานคุ้มครองและจัดการโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมอำเภอหลินเฉิง อธิบายว่าคนยุคหินใหม่ใช้ที่ฝังภาชนะคล้ายโกศในการฝังร่างเด็กที่เสียชีวิตตั้งแต่ละอ่อน โดยจัดวางร่างของเด็กลงในภาชนะดินเผาที่มีฝาปิดและฝังไว้ใกล้บ้านหรือที่ร่ม
หลิวเจิ้นหัว เจ้าหน้าที่ฝ่ายวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในอำเภอหลินเฉิง ระบุว่าโบราณวัตถุที่ค้นพบอาจมอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่และผลิตภาพของคนยุคสมัยนั้น และทางการท้องถิ่นกำลังวางแผนพัฒนาซากโบราณหนานผานสือเป็นอุทยานโบราณวัตถุ